คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : การเติบโตของตลาด Food Delivery

7 ตุลาคม 2562

        ถ้าพูดถึงชื่อ Food panda, Line Man, Grab food หรือ Get food คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้ให้บริการ Food Delivery ผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้ นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาเล่นในตลาดนี้อย่างจริงจังด้วย โดยผู้บริการทั้งหลายเหล่านี้จะไปติดต่อธุรกิจร้านอาหารและเสนอให้เข้ามาอยู่บน platform และทำการจัดส่งอาหารให้กับลูกค้าของร้านอีกทีหนึ่ง ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ร้านอาหารที่เป็นกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมถึงร้านอาหารทุกประเภทตั้งแต่ร้านข้าวแกงทั่วไปริมทางจนถึงร้านอาหารหรูหราในห้างสรรพสินค้า ถึงแม้ว่าร้านของผู้ให้บริการบางรายจะไม่อยู่บน platform แต่ถ้าลูกค้าต้องการก็สามารถสั่งให้พนักงานไปสั่งและรับอาหารมาส่งให้ได้

        ธุรกิจประเภทนี้นับว่ามีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้มีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งเติบโตสูงกว่าธุรกิจร้านอาหารเองที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ต่อปี  การเติบโตของธุรกิจบริการจัดส่งอาหารสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่มีขนาดครัวเรือนที่เล็กลง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายดายมากขึ้น

        การเติบโตของตลาด Food on Demand ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากมิติเพื่อต้องการสร้างสเกลของแต่ละแพลตฟอร์มเป็นหลัก ทำให้แต่ละรายพยายามสร้างเครื่องมือหรือฟีเจอร์ เพื่อสร้าง Loyalty ให้เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มตัวเอง โดยเฉพาะการเป็น Top of Mind, Top of Choice ที่ลูกค้าจะนึกถึง และเป็นตัวเลือกเมื่อต้องการจะสั่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการตอบโจทย์ด้วยโปรโมชั่นค่าส่งอาหาร  ความรวดเร็วในการจัดส่ง จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลาย ที่แต่ละแพลตฟอร์มต่างพยายามนำมาใช้เพื่อสร้างจุดเด่นจุดแข็งให้กับแพลตฟอร์มตัวเอง สถานการณ์ในตลาด Food Delivery ไม่แตกต่างมากนักกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีคอมเมิร์ซ ที่จะดึงดูดด้วยโปรโมชั่น ไมว่าจะเป็นดีลพิเศษ โค้ดส่วนลด หรือการมีโปรโมชั่นค่าส่งราคาพิเศษในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของลูกค้า

        โดยส่วนใหญ่คนที่จะได้ประโยชน์เต็มๆ จากบริการในรูปแบบนี้ จะเป็นร้านค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ที่มีช่องทางในการขายมากขึ้น ทำให้บางรายยอดขายเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดด โดยเฉพาะร้านอาหารรายเล็กๆ หรือกลุ่มสตรีทฟู้ด ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าหลักล้านบนแต่ละแพลตฟอร์มได้ เพราะหากเป็นโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ การจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้ จำเป็นต้องมีการขยายสาขาให้ครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญของแบรนด์เล็กๆ ที่ไม่ได้มีเงินในการลงทุนมากนัก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ขนาดใหญ่ได้ ขณะที่ลูกค้า ก็มีโอกาสในการเข้าถึงร้านอาหารใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่สะดวกในการเดินทาง หรือบางร้านที่ต้องรอคิวนาน ก็สามารถใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ และถึงแม้ว่าจะมีค่าส่งอาหาร แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะมีดีลพิเศษ หรือให้โปรโมชั่นส่วนลด ทำให้โดยรวมแล้วประหยัดกว่าการเดินทางไปที่ร้านด้วยตนเอง

        ซึ่งธุรกิจรับส่งอาหารเหล่านี้ เข้ามาลดข้อจำกัดในการส่งอาหารให้กับธุรกิจร้านอาหารต่างๆ และเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้นและมากขึ้นตามสไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง ฯลฯ แต่ต้องการบริโภคอาหารอร่อยและมีคุณภาพ

        นับว่ากระแสของ Food delivery เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรมองข้าม โดยต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนับวันก็จะมีผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องมีบริการการส่งที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังจำเป็นต้องมีจำนวนร้านอาหารหรือชนิดของอาหารที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นตัวช่วยดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันให้มากขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะส่งผลต่อการใช้บริการของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลต่อหุ้นของเจ้าของกิจการอีกด้วยนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด