คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : บทเรียนจากเศรษฐกิจดิจิทัลยุค 4.0 สู่ 4.1

7 เมษายน 2560

          เศรษฐกิจยุคดิจิตอลหรือการค้าขายบนอินเตอร์เน็ตนั้น ที่จริงแล้วได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และมาเป็นที่นิยมมากๆ ก่อนที่จะเกิดสภาวะฟองสบู่อินเตอร์เน็ตแตกในปี 2001 ซึ่งน่าจะเรียกเศรษฐกิจยุคนั้นว่ายุคเศรษฐกิจ 4.0 (ส่วนรอบหลังปี 2008 ที่ถูกต้องน่าจะเรียกว่ายุค 4.1) เมื่อครั้งนั้นหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทั้งในตลาด Nasdaq ที่ประเทศสหรัฐฯ ดัชนีได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ กว่า 5,048 จุด และมีราคา P/E เฉลี่ยของตลาดกว่า 60 เท่า ก่อนที่จะประสบปัญหาร่วงลงมาอย่างแรงมาต่ำกว่า 1,200 จุด ในปี 2002 (ตลาด Nasdaq ใช้เวลากว่า 15 ปีที่จะฟื้นกลับไปสูงกว่า 5,000 จุดอีกครั้ง

          การค้าขายบนอินเตอร์เน็ตในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นั้นเคยเรียกกันว่า e-commerce ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยการที่ครัวเรือนของประเทศสหรัฐฯ เริ่มมีคอมพิวเตอร์ใช้กันอย่างแพร่หลายและการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตดีขึ้น และเริ่มเปลี่ยนจากระบบ dial-up ที่ส่งสัญญาณผ่านสายโทรศัพท์บ้านมาเป็นการส่งสัญญาณผ่าน cable modem ซึ่งเร็วขึ้นมาก การให้บริการโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ ญี่ปุน หรือยุโรปเองก็เริ่มเปลี่ยนยุคจากการใช้บริการ 2G มาเป็น 3G ถึงแม้ความแพร่หลายของ smart phone และ tablet จะยังไม่เกิดและผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตจะยังน้อยกว่าปัจจุบันมากก็ตาม แต่ก็สามารถสร้างกระแสความตื่นเต้นในการลงทุนได้อย่างมาก บริษัทที่เติบโตอย่างมากในช่วงนั้นได้แก่บริษัท Yahoo, eBay, AOL, Dell, Cisco เป็นต้น แม้แต่ Amazon ในช่วงเริ่มแรกนั้นก็เน้นขายแต่เพียงหนังสือแข่งขันกับร้านหนังสือแบบเดิมๆ หรือแม้แต่ Google ในขณะนั้นเพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ไม่กี่ปีและยังไม่เป็นที่รู้จัก และ Facebook ก็เพิ่งก่อตั้งในปี 2004 ส่วน Uber และ Airbnb นั้นก็เพิ่งก่อตั้งในปี 2008-2009 นี้เอง

          ความแตกต่างของเศรษฐกิจยุคดิจิตอลทั้งสองครั้งนั้นได้ให้บทเรียนน่าสนใจอย่างยิ่ง ในช่วงปี 1990 หลายบริษัทต่างแย่งกันเป็น portal หรือหน้าแรกของอินเตอร์เน็ตที่คนเข้าใช้บริการด้วยแนวคิดที่ว่าหน้าแรกจะสามารถดึงความสนใจของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตให้ไปสู่สินค้าและบริการอื่นๆ ที่หน้าแรกได้นำเสนอ บริษัทโทรศัพท์ที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่างพยายามบังคับให้ผู้ใช้บริการเปิดหน้าแรกของตน โดยบริษัทพยายามนำเสนอ Portal และ Search Engine ของตัวเพื่อจะได้บังคับให้เป็นหน้าแรกของผู้ใช้บริการ แต่ผู้ใช้บริการหลายรายต่างก็เอือมระอากับการบังคับและปฏิเสธบริการเหล่านั้นไป ทำให้ทั้ง Yahoo, AOL, Netscape เสื่อมความนิยมลง คนต่างหันไปเลือกใช้ search engine อื่นที่เป็นกลางและให้อิสระกับการค้นหาข้อมูล เช่น Google จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย บทเรียนที่สำคัญของบริษัทที่พยายามบังคับผู้ใช้บริการบนโลกอินเตอร์เน็ตที่เน้นอิสระและความเชื่อมต่อ คือ การที่จำกัดทางเลือกของผู้ใช้ซึ่งก็จะทำให้เสื่อมความนิยมลงได้อย่างรวดเร็ว

          นอกจากการแย่งกันเป็น portal หรือหน้าแรกแล้ว บริษัทในยุคนั้นต่างก็พยายามแข่งขันกันเป็นตลาดศูนย์กลางของการซื้อขายหรือ market place บริษัทระดับโลกหรือแม้แต่ธนาคารหลายๆ แห่งก็ได้ลงทุนสร้าง market place ของตนเอง และพยายามดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้ แต่เท่าที่พิจารณาดูจะมีเพียง Alibaba และ eBay ที่ประสบความสำเร็จ ส่วนบริษัทอื่นที่พยายามจะตั้งตัวเป็นตลาดควบคุมการซื้อขายของสินค้าและบริการหลากหลายกลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการที่ขายสินค้าหลากหลาย เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ นั้น ทำให้การค้นหาสินค้าลำบาก การสร้างเมนูค้นหามักประสบกับความซับซ้อนในการจัดหมวดหมู่ ทำให้หาสินค้าได้ยากขัดกับหลักการ User Friendly

          ตลาดที่เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จกลับมาจากการรวมตัวของผู้ใช้และคนที่มีความสนใจเฉพาะด้านเหมือนกัน โดยในแต่ละท้องถิ่น หรือ local market หลายแห่งเริ่มมาจากเว็บไซด์ที่คนสนใจเรื่องเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน โดยบุคคลเหล่านั้นจะมาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นกัน และพัฒนาไปเป็นตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในที่สุด สำหรับประเทศไทยเองก็มีหลายตัวอย่างที่ทำแบบนี้ เช่น เว็บไซด์ซื้อขายรถยนต์ นาฬิกา จักรยาน กระเป๋า หรือเครื่องสำอางค์ ต่างก็มีพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยพวกเขาจะค้นหาและรับฟังความเห็นของผู้อื่นที่เคยใช้ และนำไปเปรียบเทียบราคาจากเว็ปไซด์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การจับกลุ่มความสนใจและความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องในแต่ละท้องถิ่นจะได้รับความนิยมมากกว่าการพยายามทำทุกอย่างแบบห้างสรรพสินค้าเดิมๆ

          ความสำเร็จและความล้มเหลวของบริษัทอินเตอร์เน็ตในยุคแรกน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญ สำหรับท่านที่กำลังทำบริษัท Fin Tech หรือ Start Up ในยุคนี้ บนโลกของข้อมูลที่สามารถค้นหาและเข้าถึงได้ง่ายนั้น ผู้ใช้บริการมีความต้องการอิสระในการเลือก การจำกัดช่องทางการเลือกหรือบังคับผู้ใช้บริการ จะทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่หนีไปใช้บริการที่อื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ตลาดและร้านค้าบนอินเตอร์เน็ตที่เจาะจงเฉพาะกลุ่มสินค้าในประเภทเดียวกันและแฝงตัวอยู่กับชุมชนของคนที่สนใจเรื่องนั้นๆ การทำร้านที่เหมือนห้างสรรพสินค้า ขายสินค้าหลากหลายกลับจะไม่ดึงดูดความสนใจ การพยายามจะ Cross Sell สินค้าที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันจะยิ่งทำได้ยากขึ้น เพราะลูกค้าสามารถกดออกจากร้านไปได้ทันทีที่เขาไม่พอใจและรู้สึกถูกยัดเยียดมากเกินไป

          แม้ว่ากลุ่มบริษัท start up ยังไม่สามารถเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จะต้องมีผลการดำเนินงานที่ดีมาแล้วอย่างน้อย 2-3 ปีก่อนที่จะเข้ามาเสนอขายหุ้นในตลาดได้ แต่ปัจจุบันก็มีนักลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัท start up โดยลงทุนกันเองผ่านเครือข่ายเพื่อนฝูงคนรู้จัก อย่างไรก็ตามก่อนพิจารณาลงทุนท่านก็ควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วยเพื่อที่จะได้คัดเลือกบริษัทที่จะลงทุนได้ไม่พลาดนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์ พนมยงค์
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
       บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด