คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : แก่และจน ความโหดร้ายที่หลีกเลี่ยงได้ ออมเท่าไหร่ให้พอเกษียณ

5 เมษายน 2559

สวัสดีครับนักลงทุนทุกท่าน

       ในขณะที่นักวิชาการและสื่อหลากหลายได้เขียนเรื่องการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยในเชิงเศรษฐกิจและสังคมว่า เศรษฐกิจอาจเติบโตช้าลงเพราะมีแรงงานในวัยทำงานเทียบกับประชากรทั้งหมดลดลงหรือพูดง่ายๆ คือ จำนวนคนทำงานที่ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูคนที่ไม่ทำงาน(เด็กและคนชรา)ลดลง ปัญหาเชิงสังคมที่เกิดจากครอบครัวขนาดเล็กลง และการย้ายไปทำงานต่างถิ่นทำให้คนชราขาดคนดูแลต้องไปพึ่งบ้านพักคนชรามากขึ้นดังเช่นที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นในต่างประเทศ

       ในมุมของนักวางแผนการลงทุนและผู้จัดการกองทุนก็ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการออมแก่ลูกค้า สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่เสมอ แต่ที่ผมเป็นกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง คือ อัตราการออมและการลงทุนของคนไทยยังต่ำมากและถ้ายังคงอยู่ในอัตราปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณโดยที่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

       “ปัญหาใหญ่ของการออมในประเทศไทย คือ ผู้ออมไม่มีเป้าหมายและไม่รู้ว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการเกษียณ บางคนยังยึดติดอยู่กับความคิดเดิมว่ามีเงินล้านก็ถือว่ารวยแล้วคงจะพอ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ได้มีการศึกษามาพอสมควรในต่างประเทศ ซึ่งผมมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานกับคณะของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ กระทรวงการคลัง และ สำนักงานคณะกรรมการ กลต. เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ผู้อ่านได้เตรียมตัวก่อนที่จะสายเกินไป”

       สูตรสำเร็จที่ต่างประเทศใช้กันมี 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง เราต้องมีเงินออมอย่างน้อย 30 เท่าของค่าใช้จ่ายรายปี (หรือ 360 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน) เช่น หากเราอยากมีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท เราก็ต้องมีเงินเก็บ ณ วันเกษียณอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท ที่มาของสูตรนี้ คือ ถ้าเราเอาเงินเก็บ 7.2 ล้านบาทไปฝากหรือลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำผสมกัน ก็น่าจะได้ผลตอบแทนอยู่ประมาณ 3-4% หรือได้ดอกผลประมาณปีละ 216,000-288,000 บาท ตกประมาณเดือนละ 20,000 บาทนั่นเอง สูตรนี้จริงๆ แล้วยังมิได้รวมค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินในยามชรา ฉะนั้นอาจต้องเผื่อไปอีกนิดหน่อยด้วย

อีกสูตรหนึ่งบอกว่าเราควรต้องมีเงินได้ต่อเดือนหลังเกษียณประมาณ ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย อันนี้คาดว่าน่าจะมีที่มามาจากสวัสดิการแบบบำนาญเดิม คือ หากก่อนเกษียณเรามีรายได้เดือนละ 40,000 บาท เราก็ควรจะมีสินทรัพย์ที่สามารถจ่ายดอกผลให้เราได้เดือนละประมาณ 20,000 บาทหรือปีละ 240,000 บาท โดยถ้าเราลงทุนแบบผสมตามข้างต้นแล้วได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3-4% ก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 7.2 ล้านบาทเช่นกัน

       หากใครอยากมีเงินใช้ต่อเดือนมากหน่อย เช่น เดือนละ 40,000 บาท หรือ 60,000 บาท ก็สามารถใช้สูตรด้านบนเทียบบัญญัติไตรยางค์ไปตามสัดส่วน นั่นคือก็ต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 14.4 ล้านบาท และ 21.6 ล้านบาท ตามลำดับ ที่นี้อยากให้ท่านลองสำรวจตัวเองดูว่า วันนี้เราเก็บเงินและลงทุนให้มันงอกเงยไปถึงเป้าหมายของแต่ละท่านแล้วหรือยัง!

       “สิ่งที่ผมเป็นกังวลถัดมา คือ ผมลองดูตัวเลขสถิติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกหลายๆ ท่าน พบว่าส่วนใหญ่ยังห่างไกลจากเป้าหมายเหลือเกิน สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการลงทุนและกลัวความเสี่ยงจึงเลือกลงทุนแบบที่ปลอดภัยที่สุด คือ การลงทุนในตลาดเงิน ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำพอๆ กับเงินเฟ้อ ทำให้มีเงินเก็บไม่เพียงพอตอนเกษียณ”

       ยกตัวอย่างเช่น พนักงานจบปริญญาตรีเริ่มทำงานอายุ 23 ปี เงินเดือน 15,000 บาท ทำงานถึงอายุ 60 ปี รวมเวลาทำงาน 37 ปี ได้เงินเดือนขึ้นทุกปีๆ ละ 5% เงินเดือนก่อนเกษียณจะอยู่ที่ 91,200 บาท โดยพนักงานและบริษัทนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายละ 5% เท่าๆ กันรวมเป็นปีละ 10% ของรายได้ (หากบริษัทไหนใจดีให้มากกว่านี้ก็ถือว่าคุณโชคดีมีนายจ้างดี) ถ้าลงทุนต่อเนื่องตลอดโดยเลือกแผนตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 2% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลเพียง 2.6 ล้านบาท แต่ถ้าท่านเลือกลงทุนแบบผสมที่เสี่ยงขึ้นมาหน่อย ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 5% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลประมาณ 4.2 ล้านบาท และหากท่านเลือกลงทุนแบบเสี่ยงมากให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวประมาณ 8% สุดท้ายจะมีเงินออมรวมดอกผลประมาณ 7.2 ล้านบาท

       จากตัวอย่างจะเห็นว่าเราต้องเลือกลงทุนแบบสูงที่ให้ผลตอบแทนฉลี่ย 8% จึงจะได้ดอกผลรวมถึง 7.2 ล้านบาทตามที่เราตั้งใจเพื่อให้มีเงินใช้เดือนละ 20,000 บาท แต่ถ้าสังเกตุจากด้านบนจะพบว่า 7.2 ล้านบาท หรือดอกผลให้ใช้หลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาทนั้นยังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้ายเลย หากท่านใดตั้งเป้าจะทำให้ได้ ก็ต้องเพิ่มอัตราการออมและลงทุนขึ้นไปอีกเป็น 21% ของรายได้แต่ละปี และต้องลงทุนแบบให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวช่วงก่อนเกษียณประมาณ 8% ขึ้นไปอีกด้วย

       “อ้าว! แล้วแบบประเมินความเสี่ยงที่พวกเราต้องทำกันละครับ ในต่างประเทศเขาไม่นำมาใช้กับการออมเพื่อการเกษียณเพราะว่ามันแตกต่างจากการลงทุนทั่วไป การออมเพื่อการเกษียณมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวมาก สามารถทนต่อความผันผวนของตลาดและสินทรัพย์เสี่ยงได้ หากให้ประเมินแล้วรับความเสี่ยงได้ต่ำลงทุนแบบไม่เสี่ยงเลยก็จะทำให้มีเงินไม่พอในยามแก่ซึ่งเป็นความเสี่ยงอีกรูปแบบที่น่ากลัวมากกว่า แต่เขาจะค่อยๆ ปรับลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงโดยอัตโนมัติหรือที่เราเรียกว่ากอง Life Path เมื่อสมาชิกหรือผู้ลงทุนมีอายุเข้าใกล้ 60 ปี”

       หลังจากที่เขียนบทความนี้เสร็จ ผมว่าผมเองก็คงต้องกลับไปเพิ่มอัตราการออมและเปลี่ยนแผนการลงทุนจากแผนผสมเดิมไปแผนความเสี่ยงสูงขึ้นซะแล้ว

โดย สมิทธ์ พนมยงค์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด