คุยเฟื่องเรื่องกองทุน : ครึ่งปีหลัง 2568 : ประเมินโอกาสการลงทุนท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวน

1 กรกฎาคม 2568

         ภาพรวมผลตอบแทนการลงทุนในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2568 ตลาดหุ้นโลกโดยรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +5.55% ซึ่งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) ปรับตัวขึ้นสูงถึง +8.86% โดยเฉพาะหุ้นจีนในกลุ่ม H-Shares ที่โดดเด่นด้วยผลตอบแทน +17.33% ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DM) ปรับขึ้น +5.18% โดยหุ้นยุโรปเป็นผู้นำที่ +10.75% อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบอย่างมากที่ -15.51% ถือเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนต่ำที่สุดในช่วงดังกล่าว ในส่วนของตราสารหนี้โลก (Global Bonds) ให้ผลตอบแทน +1.83% และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs) ปรับขึ้น +4.22% สะท้อนความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับมา ขณะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ +25.33% เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่คลี่คลาย ข้อมูลผลตอบแทนเหล่านี้อ้างอิงจาก Bloomberg

         ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2568 นี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากเดิมที่ +3.3% เหลือ +2.8% เนื่องจากความกังวลต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) และมาตรการตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จากประเทศคู่ค้า แม้จะมีสัญญาณผ่อนคลายจากการเจรจากับประเทศหลัก เช่น จีน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

         เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีสมมติฐานว่าคงไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากความมั่งคั่งสะสมจากตลาดหุ้น รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแรง อย่างไรก็ตามผลกระทบจากนโยบายการค้าอาจเริ่มปรากฏในระยะถัดไป โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เริ่มอ่อนแรง ด้านความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงอยู่ โดยอาจเร่งตัวขึ้นจากผลของนโยบายการค้า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในตลาดแรงงานมากขึ้น และส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้อัตราเงินเฟ้อยังสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% โดยหากการว่างงานเร่งตัวขึ้น Fed พร้อมลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวเกินจำเป็น

         เศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ เช่น การขยายงบประมาณขาดดุลของเยอรมนี รวมถึงนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งผลให้ภาวะการเงินในยุโรปผ่อนคลายมากกว่าสหรัฐฯ

         ประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ซึ่งช่วยลดภาระหนี้และดึงดูดเงินทุนไหลเข้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเฉพาะตัว เช่น อินเดียที่ฟื้นตัวจากการบริโภคภายในประเทศ ได้รับแรงหนุนจากนโยบายการคลังและการเงิน โดยล่าสุดธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้นและลดความผันผวนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เนื่องจากอินเดียมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในระดับต่ำ

         สำหรับเศรษฐกิจไทยยังเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2568 เหลือเพียง 1.5% แม้จะได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ แต่ไม่เพียงพอชดเชยกับการชะลอตัวของภาคส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวเริ่มอ่อนแรง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย สะท้อนถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม

         ในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์สงครามการค้าโลกยังคงเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการค้าโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำ การจัดพอร์ตลงทุนในสภาวะความผันผวนนี้ นักลงทุนจึงควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหลายกลุ่มสินทรัพย์ (Asset Diversification) เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ต รวมถึงเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความทนทานและสามารถปรับตัวได้ดี (Resilient Assets) โดยมีแนวทางสำคัญดังนี้

         หุ้น (Equities) ควรระมัดระวังในการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนมากเกินไป เนื่องจากตลาดหุ้นในปัจจุบันอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของผลประกอบการบริษัทท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ควรเลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่มีรายได้กระจายหลายภูมิภาค ไม่ควรผูกติดกับประเทศเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในประเทศที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงในระยะยาว ควรเน้นหุ้นที่มีความสามารถปรับตัวได้ดีต่อปัญหา Supply Chain และเพิ่มน้ำหนักลงทุนในกลุ่ม Defensive รวมถึงธุรกิจที่จำเป็น เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการสม่ำเสมอ สำหรับการลงทุนในกลุ่ม AI, Semiconductor และ Software ที่มีนวัตกรรมแข็งแกร่ง ยังคงมีศักยภาพเติบโตในระยะยาวและเป็นทางเลือกที่ดี แต่เนื่องจากระดับราคาค่อนข้างสูง ควรใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบทยอยสะสมหรือการลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Averaging) เพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

         ตราสารหนี้ (Fixed Income)  ควรเพิ่มสัดส่วนของตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงในพอร์ตการลงทุน เพื่อเป็นกันชนในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนหรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวยังช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ดอกเบี้ยลดลงได้

         ทองคำ (Gold) ยังคงมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์สงครามการค้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดเงินเฟ้อสูงหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยทองคำช่วยรักษามูลค่าของพอร์ตการลงทุนในช่วงตลาดที่ไม่แน่นอน

         สินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Assets) เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ Private Assets สามารถเสริมกระแสเงินสดและช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         ท้ายที่สุด สถานการณ์สงครามการค้าโลกมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงควรปรับพอร์ตการลงทุนให้มีความยืดหยุ่น พร้อมทบทวนและปรับเปลี่ยนพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มที่เปลี่ยนไป รวมถึงพิจารณาใช้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
       ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด