CMO Talk : ออมเงินเพื่อยามเกษียณ ถึงไม่ด่วนแต่ก็สำคัญ

16 ธันวาคม 2564

       การวางแผนการเงินเป็นการเตรียมความพร้อมและเพื่อนำชีวิตไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งควรเริ่มจากการปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินที่ดีและมีวินัยตั้งแต่ยังเด็ก เพราะเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จะต้องรู้วิธีการวางแผนและจัดสรรเงินให้เพียงพอในการใช้จ่าย รวมถึงการเก็บออมเพื่อการเกษียณ การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีได้ในยามเข้าสู่วัยเกษียณโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาวะเศษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การวางแผนการเงินเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ก่อนเริ่มวางแผนทางการเงิน เราควรวิเคราะห์ความพร้อมในการวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ คร่าว ๆ ดังนี้

       • กำหนดอายุเกษียณและอายุขัย โดยปกติแล้วมนุษย์เงินเดือนมักจะถูกกำหนดให้ทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี แต่ยังต้องดำรงชีวิตอยู่จนอายุถึง 70 - 80 ปี บางคนอายุยืนถึง 90 ปี ซึ่งเราอาจประมาณการอายุขัยได้จากบุคคลในครอบครัว

       • คำนวณค่าใช้จ่ายในยามเกษียณให้เพียงพอ เช่น หากตอนนี้เราอายุ 35 ปี จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี โดยคิดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งควรเป็นค่าใช้จ่ายที่ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วเราจะต้องเตรียมเงินไว้เพื่อใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี โดยเราต้องนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนที่จะทำให้เราสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้

       • ตรวจสอบเงินออมเพื่อเกษียณจากแหล่งต่าง ๆ ว่าในปัจจุบันเรามีเงินออมอยู่เท่าไหร่และเพียงพอหรือไม่ หากเงินที่ออมไว้ยังห่างจากเป้าหมายที่ต้องการอยู่มาก ก็ต้องวางแผนเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น

       • วางแผนออมเงินเพิ่ม เมื่อทราบแล้วว่ายังมีขาดเงินอีกเท่าไหร่ก็ให้เรานำเป้าหมายนั้นมาวางแผนออมเงิน โดยเริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดเงินออมในแต่ละเดือน เริ่มออมอย่างต่อเนื่องและมีวินัย สิ่งสำคัญควรเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตัวเอง

       • ทบทวนเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ ต้องเพิ่ม/ลดอย่างไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าระดับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อประเมินและปรับแผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

       สำหรับการลงทุนเพื่อสำหรับใช้จ่ายในยามเกษียณนั้น มีหลากหลายรูปแบบ วันนี้ขอยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อเป็นแนวทางดังนี้

       1. ประกันแบบบำนาญ ซึ่งจะช่วยให้เรามีรายได้อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ เดือนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเสียชีวิตเปรียบเสมือนการได้รับเงินเดือนทุกเดือน โดยผู้เอาประกันจะต้องออมเงินด้วยการชำระเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กรมธรรม์ระบุ และผู้เอาประกันจะได้รับเงินเป็นรายงวดนับตั้งแต่วันที่เกษียณอายุ ไปจนถึงอายุสูงสุดที่กรมธรรม์ได้กำหนดไว้ตามเงื่อนไข โดยผู้เอาประกันสามารถที่จะออกแบบได้ว่าตนเองต้องการเงินในแต่ละงวดเท่าไหร่เพื่อนำไปใช้ในช่วงหลังเกษียณ ทำให้ผู้เอาประกันสามารถที่จะมั่นใจได้ว่า ในช่วงวัยหลังเกษียณจะมีรายได้ที่แน่นอนจำนวนหนึ่งเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ไม่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาด

       2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ทั้ง 2 ประเภทนี้มีลักษณะเหมือนกัน ต่างกันที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีนายจ้างเป็นเอกชน และสามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน โดยนายจ้างจะสมทบให้อีกตามเงื่อนไขของนายจ้าง นอกจากนี้ หากเราย้ายไปทำงานที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกไปทำอาชีพอิสระก่อนอายุ 55 ปี ไปจนถึงกรณีที่นายจ้างเลิกกิจการ เราก็ยังสามารถออมต่อเนื่องและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยโอนเงินไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ ตามที่เรียกกันว่า RMF for PVD

       ส่วนกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการมีภาครัฐเป็นนายจ้าง สะสมในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือน นอกจากนี้ สมาชิกยังสามารถเลือกสะสมส่วนเพิ่มได้ตั้งแต่ร้อยละ 1 - 12 ซึ่งต้องเป็นตัวเลขจำนวนเต็มไม่มีจุดทศนิยม (เมื่อรวมกับเงินสะสมปกติแล้วจะไม่เกินร้อยละ 15) โดยนายจ้างจะสมทบให้ 3% ของเงินเดือน

       3. กองทุนรวม ปัจจุบันมีให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก โดยนักลงทุนควรคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้เพื่อผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม นอกจากการเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แล้ว การทยอยลงทุน หรือที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะการลงทุนได้ด้วย

       4. Super Saving Fund (SSF) เป็นกองทุนรวมเพื่อการออม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท (เมื่อรวมกับ RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข.,กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท) และต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปีบริบูรณ์นับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน) สามารถลงทุนเป็นรายปีได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี เหมาะสำหรับผู้มีเงินได้ที่อยู่ในช่วงเริ่มทำงานถึงอายุ 45 ปี

       5. Retirement Mutual Fund (RMF) มีลักษณะคล้ายกลับ SSF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี และมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเช่นเดียวกัน แต่จะลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้และต้องไม่เกิน 500,000 บาท (รวมกับ SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนการออมแห่งชาติ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของโรงเรียนเอกชน และประกันบำนาญ) ต้องถือครองจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนมาครบ 5 ปีบริบูรณ์ โดยต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี เหมาะสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคลด้วย

       ทั้งนี้ การวางแผนทางการเงินเพื่อชีวิตยามเกษียณ ควรวางแผนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี อย่าปล่อยให้เวลาล่วงผ่านเลยไปจนออมไม่ทัน สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนประเภท SSF และ RMF ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้มีโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายในกองทุนประเภทนี้สูงสุดถึง 50 กองทุน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการทางเลือกที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกสินทรัพย์ ครบจบในที่เดียว

       ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6 หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย

 

โดย คุณอาชวิณ อัศวโภคิน​
        Chief Marketing Officer สายการตลาดและช่องทางการขาย
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด