CIO Talk ตอน ต้องลงทุนอย่างไร? เมื่อตลาดการเงินปี 2566 ยังส่อแววผันผวน

23 มกราคม 2566

          ปี 2565 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ยากสำหรับการลงทุน นับแต่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่แม้ว่าการฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากขึ้นและไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดมีความรุนแรงลดลง และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตกันอย่างปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ก็ยังพบเจอกับปัจจัยระดับมหภาค จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตของห่วงโซ่อุปทานโลก สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นำไปสู่ความเข้มงวดของนโยบายทางการเงินมากขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วกว่าที่ตลาดคาด หรือกว่า 4.25% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 9 เดือน ทำให้นักลงทุนมีความกังวลและเทขายสินทรัพย์ลงทุนอย่างรุนแรงทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน และตลอดทั้งปี 2565 พันธบัตรรัฐบาลโลกและตลาดหุ้นโลก ต่างก็มีการปรับตัวลดลงกว่า -16% และ -20% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มผ่อนคลายในช่วงปลายปี 2565 และทำให้สินทรัพย์ลงทุนฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม แต่นักลงทุนก็ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

          

          สำหรับแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐ ฯ ที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อล่าสุดปรับตัวเข้าโซนเศรษฐกิจถดถอยแล้ว เช่นเดียวกันกับโมเดลของ FED ที่ดูจากผลต่างของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 เดือน และ 10 ปี ซึ่งมีความแม่นยำมากในการทำนายภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งล่าสุด ก็ชี้ว่าโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 สูงถึง 47.1% เป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ที่ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ลงจาก 2.9% เหลือ 2.7% สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังห่างไกลกับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระดับ 2%  เนื่องจากภาคบริการและตลาดแรงงานยังแข็งแรงอยู่มาก ทำให้ FED ยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 นี้ FED จะปรับดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ระดับประมาณ 5% ก่อนที่หยุดขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ FED ยังคงเดินหน้าทยอยปรับลดขนาดงบดุลต่อไป และคาดว่าตลอดทั้งปี 2566 นี้ สภาพคล่องจะถูกถอนออกไปจากระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านๆ ดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่านโยบายการเงินจะยังคงมีความตึงตัวอยู่มาก จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มส่งผลกระทบต่อทั้งการเติบโตของกำไรบริษัทและอัตรากำไรจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนตามมา ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้นต่อไปอีกระยะ

          จากความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังมีอยู่สูง จึงมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีมีความน่าสนใจมากกว่าตราสารทุน โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำและอายุของตราสารที่ยาว เนื่องจากมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นโอกาสให้เข้าลงทุนเพื่อรับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงให้ได้นานที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนกับตราสารหนี้มีความน่าสนใจ แต่ก็ยังคงต้องระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ด้อยคุณภาพที่ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะบริษัทเหล่านั้นจะมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ในขณะที่ ตราสารทุนยังคงแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ไว้บางส่วน เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน และการแพทย์ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากผลกำไรของกลุ่มเหล่านี้มีความผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจไม่มาก นอกจากนี้ มองว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชีย และจีนจะมีโอกาสกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีได้  จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มกลับมามีทิศทางอ่อนค่า และการกลับมาเปิดประเทศที่ค่อนข้างเร็วของจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจและผลประกอบการโดยรวมของภูมิภาค ในขณะที่ราคาหุ้นยังถูกกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่พอสมควร ทำให้กระแสเงินทุนมีโอกาสไหลกลับมาในกลุ่มประเทศนี้

          อย่างไรก็ดี หากสามารถการมองข้ามวัฏจักรถดถอยในรอบนี้ไปได้ นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว อาจพิจารณาทยอยเก็บสะสมในช่วงจังหวะที่ตลาดมีความผันผวน เนื่องจากสินทรัพย์การลงทุนหลายอย่างได้ปรับตัวลงสะท้อนปัจจัยลบไปบ้างแล้วพอสมควร แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 จะมีความเป็นไปได้สูง แต่คาดว่าระดับความรุนแรงจะไม่สูงมาก สิ่งที่สำคัญกว่านั้นอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับลดลงต่อเนื่อง นโยบายการคลังจะยังคงกระต้นเศรษฐกิจ และในปี 2567 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ด้วยสภาวะลงทุนที่น่าจะคล้ายคลึงกับช่วงปีทศวรรษ 2010 ที่เศรษฐกิจอาจเติบโตไม่มาก แต่เงินเฟ้อไม่สูง อัตราดอกเบี้ยทยอยปรับลดลง ค่าจ้างปรับตัวลดลง ส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดีต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง และสำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ คือ Semiconductor ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโทรคมนาคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่ดีในระยะยาว รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่มีมูลค่าพื้นฐานปรับลดลงมามาก ในขณะที่ ระดับอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้กลุ่มหุ้นกู้เอกชนคุณภาพก็ได้ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับที่น่าสนใจในการลงทุน เช่นเดียวกันกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อัตราเงินปันผลปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และยังได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราการเติบโตของค่าเช่าที่ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด จึงเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะแก่ลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเช่นเดียวกัน

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​