CIO’s Talk ตอน “โอกาสลงทุนในสภาวะเศรษฐกิจกับตลาดหุ้นสวนทางกัน”

21 กรกฎาคม 2563

          ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่ดัชนีตลาดหุ้นมักจะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจ (มากกว่าที่เศรษฐกิจที่ประกาศออกมาจะเป็นตัวชี้นำตลาดหุ้น) นั่นเป็นเพราะนักลงทุนทั้งรายย่อยรายใหญ่ซื้อหุ้นเพราะต้องการผลตอบแทนในอนาคตไม่ใช่ผลตอบแทนในอดีต ดังนั้นราคาหุ้นจึงสะท้อนมุมมองต่อผลประกอบการในอนาคตซึ่งรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว เราจึงได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงไปทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทน่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 หรือ 3 ของปีนี้

          หากมองย้อนกลับไปเราจะพบว่า ที่จุดต่ำสุดของตลาดในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงที่คนกลัวหรือกังวลจนถึงขีดสุด เพราะไม่มีใครทำนายความร้ายกาจของ Covid-19 ได้แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่ามาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะ “เอาอยู่” หรือไม่ การปิดเมืองจะหยุดยั้งโรคได้มั้ย ต้องปิดไปยาวนานแค่ไหน จะมีบริษัทล้มละลาย คนตกงานมาก จนลามเป็นวิกฤติการเงิน หรือมีธนาคารล้มเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่ แต่... จุดที่น่ากลัวที่สุดนั้น กลายเป็นจุดที่น่าลงทุนที่สุดที่ทำเอาหลายคนตกรถไปแล้วเรียบร้อย

          แต่ “Better late than never” เริ่มลงทุนตอนนี้ก็ยังไม่สาย  แม้ว่า valuation ของตลาดในวันนี้จะไม่ถูกสุดๆ เหมือนช่วงลดกระหน่ำ summer sale ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่ก็นับว่าไม่ช้าไป เพราะยังมีหลายสัญญาณที่ทำให้มั่นใจได้ว่าตลาดยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกอยู่พอสมควรหากนักลงทุนมีวินัยและสามารถถือลงทุนได้นานพอ

          สัญญาณแรก คือ ยังมีกูรู หรือนักวิจารณ์ตลาดอีกไม่น้อยที่ยังมีความเห็นว่าไม่ควรลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งทำให้ตลาดไม่ฮึกเหิมเกินไปจนอันตราย โดยตราบใดที่ยังมีเม็ดเงินลงทุนที่ยังรอโอกาสเข้าลงทุนอยู่ตราบนั้นโอกาสที่ตลาดจะทรุด (crash) หนักๆ ก็น้อย และหากจุดต่ำสุดของตลาดคือจุดที่ผู้คนมีความกลัวสุดๆ จุดสูงสุดของตลาดก็น่าจะเป็นจุดที่คนฮึกเหิมสุดๆ เช่นกัน ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจตอนนี้ช่วยให้ไม่เกิดภาวะฮึกเหิมสุดๆ ดังกล่าว ซึ่งแปลว่าการค่อยๆ ฟื้นตัวของตลาดหุ้นน่าจะยังดำเนินต่อไปได้อีกนาน โดยอย่าลืมว่าวันไหนที่ทุกคนเชียร์ลงทุนในตลาดหุ้นกันหมด นั่นแหละอาจจะเป็นจุดที่น่ากังวลจริงๆ 

          สัญญาณที่สอง Earnings Revision เริ่มมีสัญญาณ Bottom out หรือใกล้จุดต่ำสุดเต็มที โดยเห็นได้จากการปรับประมาณการตัวเลขผลประกอบการบริษัทของนักวิเคราะห์เริ่มนิ่งขึ้น หลักจากถูกปรับลงอย่างต่อเนื่องตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวในตลาดหุ้นไทยและยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าอย่างน้อยวิกฤติผลประกอบการในหลายๆ ประเทศทั่วโลกน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

          สัญญาณที่สาม สภาพคล่องที่ล้นเหลือ ไม่ต้องมองไกลตัวไปยังธนาคารกลางในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน เพราะแบงก์ชาติของไทยเองก็มีมาตรการด้านสภาพคล่องออกมาแล้ว เห็นจากปริมาณเงิน (broad money supply) พบว่าในช่วง 3 เดือนหลัง Covid-19 (มีนาคม-พฤษภาคม) ปริมาณเงินปรับเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นราว 10% ของ GDP ซึ่งในอดีตการเพิ่มในระดับนี้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวที่อยู่ในระบบการเงินในที่สุดก็จะต้องถูกจัดสรรไปยังที่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และแน่นอนว่าภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ ส่วนหนึ่งย่อมถูกนักลงทุนแบ่งมายังตลาดหุ้นด้วย

 

          ทั้งนี้ หากเราเชื่อว่าวันนึงวิกฤตินี้ต้องจบลงสอดคล้องกับหลายสำนักวิจัยบอกว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่สภาพเดิม แม้จะไม่เร็วคืออาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี แต่ถ้าคิดง่ายๆ ว่า หากเศรษฐกิจกลับไปที่เดิมได้ SET Index ก็น่าจะกลับไปที่แถวๆ จุดเดิม (1,750-1,850 จุด) ได้เช่นกัน ซึ่งถ้าคิดเป็นผลตอบแทนจากวันนี้ (1,350 จุด) หากทำได้ใน 2 ปีก็คิดเป็นผลตอบแทน 14-17% ต่อปี แต่หากกลับไปได้ใน 3 ปีก็คิดเป็นผลตอบแทนที่ราว 9-11% ต่อปี ซึ่งยังไม่นับปันผลที่น่าจะอยู่ที่ราว 3% ต่อปี ก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่เลวทีเดียว

          ที่เล่าทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่มีความเสี่ยง เพราะหากมองในแง่ความผันผวน (market volatility) ของตลาดหุ้นจะพบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าจะลดความผันผวนกลับไปอยู่ในช่วงก่อนวิกฤติง่ายๆ

          ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในช่วงนี้ เราต้องเลือกใช้กลยุทธ์ที่จะช่วยให้เราถือลงทุนระยะยาวได้ โดยไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนระยะสั้นเสียก่อน นั่นก็คือ การกระจายความเสี่ยง และจัดสรรการลงทุนตามระยะเวลา ซึ่งอาจแบ่งเงินเป็นสองส่วนหลักๆ  ได้แก่ เงินที่ต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ และเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้

          1)  เงินลงทุนที่อาจต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ เช่น อาจจำเป็นต้องใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ควรเลือกการลงทุนที่มั่นคงสูง ผันผวนต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (สำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า) กองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดเวลาหรือ term fund (สำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 3-12 เดือนข้างหน้า) กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นตราสารซึ่งมีอายุยาวขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับเงินที่มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ แม้เงินส่วนนี้อาจให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่จะช่วยให้เราลดความกังวลต่อส่วนลงทุนระยะยาวได้

          2)  เงินลงทุนระยะยาว 3 ปี ขึ้นไปได้ โดยลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจเน้น theme การลงทุนที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงหลัง Covid-19 เช่น กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Global healthcare) ทั้งผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ และโรงพยาบาล หรือกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในตลาดหุ้นในประเทศ) กลุ่มที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัยซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ความต้องการรักษาพยาบาล แต่ยังรวมถึงความสามารถการใช้จ่ายเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย (Global Demographic Theme) นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งบางส่วนเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มปันผลสูงรวมถึงกลุ่ม REIT และ Infrastructure Fund ด้วยซึ่งมักให้ผลตอบแทนดีช่วงดอกเบี้ยต่ำ และมีความผันผวนไม่สูงนัก

          ทั้งนี้ ขอให้นักลงทุนทุกท่านมีความสุขไปกับการจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม กระจายลงทุนไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเลือก theme การลงทุนที่เข้ากับตัวตนและวัตถุประสงค์ของท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงเสมอก็คือ การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

 

 

โดย  คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
        Chief Investment Officer สายการลงทุน​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​