บลจ. ไทยพาณิชย์ ยืนหนึ่ง! รับรางวัลชนะเลิศ การฝึกซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับภาคตลาดทุนของประเทศไทย ชูจุดยืนองค์กร Digital Business ที่พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

27 กุมภาพันธ์ 2568

       นางปิ่นสุดา ภู่วิภาดาวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายวางแผน เทคโนโลยีและปฏิบัติการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เข้ารับรางวัลชนะเลิศจากกิจกรรมการฝึกซ้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ภาคตลาดทุนประจำปี 2567 หรือ Capital Market Cyber Exercise 2024 (CMX2024) รางวัลที่สะท้อนความพร้อมต่อการรับมือกับภัยคุกคามหรืออาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งสอดรับกับแผนกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น Digital Business โดยนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจในทุกด้าน ครอบคลุมตั้งแต่การลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การให้บริการลูกค้า รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี

       ​กิจกรรม CMX2024 เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อฝึกซ้อมรับมือภัยทางไซเบอร์สำหรับภาคตลาดทุนของประเทศไทย ซึ่งเป็นการฝึกซ้อมในระดับ Capital Market Sector-Wide Exercise ในรูปแบบ Table Top Exercise โดยผู้ประกอบธุรกิจในกิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยไซเบอร์จากสถานการณ์เสมือนจริง ซึ่งแต่ละปีจะมีตัวแทนจากภาคตลาดทุนจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์(บล.) และตัวแทนขาย เข้าร่วมกว่า 100 องค์กร

       ​ด้วยปัจจุบัน ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น การยกระดับความปลอดภัยสารสนเทศจึงมีความสำคัญในการปกป้องข้อมูลสำคัญขององค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและตัวแทนขายหน่วยลงทุน SCBAM จึงได้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิเช่น AI มาประยุกต์ใช้รับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการวางแผนป้องกันในเชิงรุก สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในทุกระดับขององค์กร

       ​นางปิ่นสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมฝึกซ้อมรับมือภัยทางไซเบอร์สำหรับภาคตลาดทุน (CMX) มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้ฝึกฝนทักษะในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความทันสมัยตามแนวโน้มของภัยคุกคาม ยังสามารถนำประสบการณ์และคำแนะนำที่ได้จากการฝึกซ้อมมาใช้ปรับปรุงกระบวนการ และแนวทางการตอบสนองต่อภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”