Worldwide Wealth by SCBAM : มุมมอง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในตลาดทุนไทย

30 ตุลาคม 2563

         การลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ผิดคาดมาก หากเรากลับไปยืนในช่วงปลายปีที่แล้ว ณ ขณะนั้นนักลงทุนมีความคาดหวังค่อนข้างสูงว่าตลาดหุ้นปี 2563 จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าของปี 2562 ได้ เนื่องจากในปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งของสหรัฐฯ พรรคการเมืองจึงต้องใช้เวลาไปกับการวางกลยุทธและนโยบายสำหรับการหาเสียงเกือบตลอดปี ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เคยกดดันตลาดหุ้นมาโดยตลอดน่าจะบรรเทาลง แต่กลับมีเหตุการณ์กดตลาดทั่วโลกที่รุนแรงยิ่งกว่าเกิดขึ้น คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการติดเชื้อเร่งตัวขึ้นสูงเกินกว่าจะควบคุมได้จนต้องตามมาด้วยมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ ในเมื่อธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ดังปกติ  ความสามารถในการทำกำไรก็จะพลาดเป้าไปมาก นักลงทุนจึงหันมาถือครองเงินสดมากขึ้นหรือหันไปลงทุนในทองคำแทน ราคาหุ้นทั้งโลกจึงปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

         ในช่วงเริ่มเกิด COVID ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงจากปลายปี 2562 ที่ 1,579.84 จุด และ ณ วันที่ 13 มี.ค 2563 ลงมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 969.08 ลดลงประมาณ 610.76 จุด หรือประมาณ 39% ก่อนจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการช่วยบรรเทาความผันผวนของตลาดฯ โดยการปรับช่วง Ceiling-Floor ให้แคบขึ้นจากวันละ 30% เป็น 15% การจำกัดการตั้งราคาเพื่อ Short sell และมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจและประชาชนต่างๆ ของรัฐบาลที่ทยอยออกมา และในที่สุดก็ได้มีการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ให้หลายธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้

         อย่างไรก็ตาม สำหรับตลาดหุ้นไทยนับว่ามีการฟื้นตัวน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก เนื่องจากโครงสร้างของตลาดไทยไม่ได้มีหุ้นเทคโนโลยี หรือ Online service/platform ต่างๆ ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่ได้รับความสนใจในการลงทุนอย่างมากในปีนี้ นอกจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในสัดส่วนสูง เมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงไปมาก นักท่องเที่ยวก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ส่งผลให้ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบมากและเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาภายในประเทศเฉพาะตัว นั่นคือ การเปลี่ยนตัวคณะรัฐมนตรีซึ่งทำให้นโยบายต่างๆ ขาดความต่อเนื่องไป รวมถึงมีการชุมนุมภายในประเทศเกิดขึ้นอีก ซึ่งแม้จะไม่มีความรุนแรงแต่ก็จะยืดเยื้อและทำให้ความน่าสนใจลงทุนในประเทศไทยลดน้อยลง

         ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองมาโดยตลอด ส่วนความไม่แน่นอนที่เกิดจากการชุมนุมนั้นก็เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง หากพิจารณาการชุมนุม 3 ครั้งสำคัญ ในปี 2551, 2553 และ 2557 จะพบว่า

  • ตลาดหุ้นก่อนการชุมนุม 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน จะแกว่งตัวผันผวนสูงและไม่มีทิศทางที่ชัดเจน นักลงทุนส่วนใหญ่จะชะลอการลงทุนก่อนการชุมนุม โดยผลตอบแทนเฉลี่ยก่อนการชุมนุม 1 สัปดาห์ จะเท่ากับ +1.2% และ 1 เดือน จะเท่ากับ +1.5%
  • ส่วนแนวโน้มตลาดหลังการเริ่มชุมนุม พบว่าตลาดจะปรับตัวลงในช่วงแรก คือ 1 สัปดาห์แรกปรับลงเฉลี่ย -2% ในขณะที่ 1 เดือนหลังเริ่มชุมนุมปรับตัวลงเฉลี่ย -4%
  • ส่วนภาพในระยะกลางคาดว่าตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัว โดย 3 เดือนดัชนี SET ปรับขึ้นเฉลี่ย 4.3% และ 6 เดือนปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 10.3% เกิดจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นหลังการชุมนุมเกิดจากนักลงทุนเริ่มเห็นความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและกอบกู้ความเชื่อมั่น ทำให้มีความมั่นใจและกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง

 

         หากการชุมนุมในครั้งนี้ผ่านไปได้ด้วยดี ตลาดหุ้นก็มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ระดับปัจจุบันที่ประมาณ 1,240 – 1,250 จุดได้เช่นกัน    โดยจะได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีออกมาต่อเนื่องหลังจากมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและทีมเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนรักษา COVID-19 ที่จะทยอยออกมาเสริมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้วัคซีนของหลายบริษัทเข้าสู่เฟส 3 แล้ว และคาดว่าจะเห็นความสำเร็จของวัคซีนมากขึ้นในช่วงปลายปีนี้    

         สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะกลับมา Outperform ตลาดภายหลังการเมืองสงบลงแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มขนส่ง และกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น กลุ่มพาณิชย์จะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการคนละครึ่ง ส่วนการเพิ่มวันหยุดยาวและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะทำให้กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มขนส่ง กลุ่มเครื่องดื่มจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 นั้นคาดว่าจะมีการเติบโตมากกว่า 20-30% โดยคาดว่ามีการเติบโตได้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมากน้อยต่างกันบ้าง  ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงนี้จะเหมาะมากสำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนในระยะปานกลางถึงระยะยาว เพราะเมื่อผ่านพ้นความไม่แน่นอนทางการเมืองได้แล้วและการพัฒนาวัคซีนเริ่มมีผลสำเร็จตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนในด้านบวก

         ส่วนปัจจัยการลงทุนที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คือ การประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และความคืบหน้าของการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะส่งผลต่อการลงทุนในอนาคตอย่างมาก เราในฐานะนักลงทุนก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของเรานะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​