Worldwide Wealth by SCBAM : Trade War วิกฤตหรือโอกาสของประเทศไทย

25 มิถุนายน 2561

          อดัม สมิธ (Adam Smith) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม และกระบวนการผลิตที่เริ่มมีการแบ่งงานกันเป็นงานย่อยๆ ทำให้มีความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถผลิตสิ่งของหรือสินค้าได้มากกว่าการผลิตในครัวเรือนแบบโบราณที่คนหนึ่งคนทำทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ กระบวนการผลิตแบบใหม่ทำให้มีผลผลิตและสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้เขายังเชื่อว่ากลไกของตลาดนั้นเสมือนมือของพระเจ้า (invisible hands) ที่มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคมและระบบเศรษฐกิจ การปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ทรัพยากรต่างๆ จะถูกนำไปใช้กับการผลิตที่ให้คุณค่ากับมันมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นสมมติฐานหลักอันหนึ่งคือ ความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด ความอยากนั้นมีแต่เพิ่มขึ้นไม่รู้จักพอ ทฤษฎีนั้นก็มีการพัฒนาต่อยอดและใช้ได้ดีมาหลายร้อยปี

          แต่ในศตวรรษที่ 21 เมื่อสังคมได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือ aging society กลไกตลาดของ อดัม สมิธ ดูเหมือนจะเริ่มรวน ใช้งานได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน สมมติฐานหลักหลายข้อเริ่มโดนตั้งคำถามว่ายังเป็นจริงอยู่หรือไม่ การสะสมความมั่งคั่งในระบบเศรษฐกิจนั้น แต่ไหนแต่ไรมาสินทรัพย์และความมั่งคั่งส่วนใหญ่จะอยู่กับผู้สูงอายุในสังคมนั้นๆ เพราะท่านเกิดมาก่อนเก็บหอมรอมริบจับจองสินทรัพย์มาก่อนก็รวยกว่า เราอาจจะดูจากรายชื่อมหาเศรษฐีที่ติดอันดับร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยเป็นตัวอย่างก็ได้ จะสังเกตว่าส่วนใหญ่จะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจมีส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังหนุ่ม

          เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น จากอดีตคนมีอายุเฉลี่ย 60 ปีเศษ ปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยได้ขึ้นไปกว่า 80 ปีหรือ 90 ปีในบางประเทศ เมื่อคนมีอายุยืนขึ้นเราเริ่มสังเกตว่าพฤติกรรมการบริโภคจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนไป คนสูงอายุไม่ได้ต้องการบริโภคหรือต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่งคั่งเช่นคนหนุ่มสาว ท่านผู้อ่านอาจลองสังเกตคุณพ่อคุณแม่หรือผู้สูงอายุที่ใกล้ตัวจะพบว่า ท่านไม่ได้มีความอยากได้โทรศัพท์มือถือ ทีวี หรือรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกมา ส่วนใหญ่รู้สึกพอใจและคุ้นเคยกับของที่ตนมีอยู่แล้ว จะซื้อเปลี่ยนใหม่ก็เมื่อของเดิมเสียหรือพังลงเท่านั้น

          การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มคนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นเป็นการท้าทายต่อแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการอัดฉีดสภาพคล่องหลังวิกฤติซับไพรมในสหรัฐฯ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างระดมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบถึง 4 เท่า แต่โลกกลับแทบไม่มีเงินเฟ้อเลย เพราะเงินที่อัดฉีดเข้าไปในระบบนั้น เจ้าของสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุจะได้ประโยชน์ก่อน แต่พวกเขากลับไม่นำความมั่งคั่งที่ได้รับไปใช้ซื้อสิ่งของต่างๆ เงินเฟ้อก็ไม่มี แต่พวกเขากลับนำเงินที่ได้ไปไล่ซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลก ทั้งหุ้น ทั้งตราสารหนี้ปรับตัวขึ้นเป็นตลาดกระทิงที่ยาวที่สุดติดต่อกันหลายปี

          เท่านั้นยังไม่พอการที่คนมีอายุยืนขึ้นทำให้การส่งต่อมรดกทรัพย์สินซึ่งเป็นทุนในการสร้างกิจการไม่มีประสิทธิภาพเช่นเดิม เมื่อก่อนที่คนมีอายุขัยเฉลี่ย 60 ปีเศษ มรดกก็ตกทอดสู่รุ่นต่อไปในขณะที่ผู้รับมรดกยังมีอายุ 30 – 40 ปี คนกลุ่มนี้เมื่อได้ทุนมาก็ยังมีกำลังมีความอยากที่จะสร้างหรือทำธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มพูนความมั่งคั่งทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่เมื่อคนแก่มีอายุยืนขึ้นถึง 80 – 90 ปีเช่นในปัจจุบัน ผู้รับมรดกรุ่นถัดมากว่าจะได้สิทธิครอบครองสินทรัพย์ก็อายุปาเข้าไป 60 ปีกว่าแล้ว พวกเขาก็ไม่อยากเสี่ยงไปเริ่มต้นธุรกิจหรือก่อสร้างโรงงานอะไรใหม่ๆ ถ้าจะลงทุนก็ขอเสี่ยงน้อยไม่ต้องออกแรงมากเช่นการลงทุนผ่านตลาดเงินตลาดทุน เศรษฐกิจที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุถึงโตช้า และไม่ตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นแบบเดิมๆ ที่เคยใช้มาในศตวรรษที่ 20 รัฐบาลต่างๆ ทั้งในญี่ปุ่น และยุโรปตะวันตกบางประเทศก็ได้ลองมาตรการกระตุ้นต่างๆ แล้วแต่ก็ไม่ได้ผล

          แต่กระนั้นสังคมผู้สูงอายุก็ไม่ได้แย่ไปเสียหมด ธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องไปได้ก็ยังมี เช่น ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ วิตามิน ยา การแพทย์ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความมั่งคั่ง การจัดการสินทรัพย์ นักลงทุนเองก็ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งในการลงทุนด้วยนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​