Worldwide Wealth by SCBAM : ความท้าทายของตลาดตราสารหนี้และกลยุทธ์การลงทุนในปี 2565

22 พฤศจิกายน 2564

         ธุรกิจวันนี้พร้อมจะปรับตัวหรือยัง? เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ก็ได้แสดงความเห็นใกล้เคียงกันว่า การเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามาเสริมสร้างโอกาสและผลผลิตด้านการงาน โดยเฉพาะในช่วง 1.5 ปีที่ผ่านมา ที่ทั่วโลกได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันเป็นรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การท่องเที่ยว และการเดินทาง สำหรับประเทศไทยเองนั้น ก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยกิจกรรมนอกบ้านหายไปสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับก่อนการระบาด

         อีกเทรนด์หนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งมาพร้อมกับการระบาด COVID-19 โดยเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายในวิถีชีวิตประจำวัน หรือเรียกว่าเป็นความปกติใหม่ (New Normal) นั่นก็คือ E-commerce (พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ รวมถึงยังทำหน้าที่เป็นสื่อในการนำเสนอสินค้า บริการ และสร้างรูปแบบประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค โดยสินค้าจะส่งถึงหน้าบ้านลูกค้า ซึ่งลูกค้าแทบจะไม่มีความเสี่ยงต้องออกจากบ้านและสัมผัสกับเชื้อ COVID-19 เลย

         เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ และปรับตัวให้เข้ากับทิศทางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพราะหากยังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ มีช่องทางการจำหน่ายแค่เพียงหน้าร้านอย่างเดียว (Brick and Mortar) โดยไม่มีการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ หรือไม่มีการสื่อสารกันแบบรวดเร็วทันใจ ธุรกิจนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเติบโตได้ช้าลง หรือต้องรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

         สำหรับธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จาก 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) อัตราการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตที่สูงถึง 79% (ที่มา: Statista) 2) สัดส่วนประชากรที่ใช้โซเซียลมีเดียที่สูงถึง 78% (ที่มา: Statista) 3) ระบบการชำระเงินออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีค่าธรรมเนียมต่ำ และ 4) ระบบขนส่งที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2558 - 2562) มูลค่าตลาดการค้าปลีก E-commerce มีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 42% ต่อปี และในปีที่มีการระบาด COVID-19 มีการขยายตัวที่อัตราสูงถึง 80% จากปีก่อนหน้า ซึ่งตรงข้ามกับมูลค่าการซื้อขายผ่านหน้าร้าน (Store-based retail) ที่หดตัวถึง 11% ในปีเดียวกัน ในขณะที่สัดส่วนทางการตลาดของ E-commerce ได้ปรับตัวขึ้นมาสูงถึงระดับ 10% ในปี 2563 จากเพียงแค่ 1% ในปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน โดย Euromonitor International ได้คาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ธุรกิจ E-commerce ไทยจะสามารถขยายตัวได้อัตราสูงถึงร้อยละ 16 ต่อปี จากระดับประมาณ 3 แสนล้านบาท เป็นสูงถึงเกือบ 7 แสนล้านบาท
 

 

         นอกจากผู้บริโภคจะได้รับความสะดวกสบายบนโลกตลาดออนไลน์แล้ว ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมก็จะสร้างความได้เปรียบด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากระบบนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยู่ส่วนไหนของโลก รวมไปถึงการประหยัดต้นทุนร้านค้า เช่น ค่าเช่า ค่าตกแต่ง และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ

         แม้ว่าจะมีหลายเหตุผลที่ผู้ประกอบการควรจะปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายบนโลกออนไลน์ แต่หากวิเคราะห์เพิ่มเติมลงไปในรายละเอียดของธรรมชาติในแต่ละประเภทธุรกิจ และแต่ละสินค้าแล้ว การใช้ช่องทางการขายแบบ E-commerce อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป เช่น ธุรกิจแบรนด์หรู หรือธุรกิจเครื่องประดับ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สินค้ามีราคาสูง ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือจากการมีหน้าร้านชัดเจน หรือไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวในการได้รับสินค้าโดยทันที และการได้รับความพึงพอใจจากการได้เห็น ได้สัมผัส และทดลองใช้สินค้าจริง อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้ประกอบการอาจจะพิจารณาว่าการเข้าสู่ระบบ E-commerce จะไม่เหมาะกับสินค้า แต่การพึ่งพาการโฆษณาผ่านช่องทางสื่อสังคมโซเซียล ก็ยังมีความจำเป็นในหลาย ๆ มิติ

         แล้วธุรกิจอะไรบ้างที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากธุรกิจ E-commerce? ขอนำเสนอตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนดังนี้ ธุรกิจเสื้อผ้าได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก หลังจากเกิดการขยายตัวของธุรกิจ E-commerce ที่รวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่ผลิตสินค้าคุณภาพใกล้เคียงสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากภาระต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยไม่นานมานี้จะเห็นข่าวการปิดฉากของแบรนด์เสื้อผ้า Topshop ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ และอีกหลายแบรนด์ที่อาจจะกำลังตามมา นอกจากนี้ ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ อาจเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังต้องปรับตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่มีรายได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสังคมโซเซียลมีเดียได้เข้ามาทำหน้าที่แทน หากไม่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

         ดังนั้นแล้ว หากย้อนกลับมามองการเปลี่ยนโลกการทำธุรกิจ ที่อยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการและองค์กรที่พร้อมรับมือกับภาวะความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น จะสามารถอยู่รอด และเพิ่มการเติบโตของธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​