Worldwide Wealth by SCBAM : ลงทุนหุ้น (ไทย) ในภาวะผันผวน

22 พฤษภาคม 2562

         ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ยังเป็นช่วงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 แต่คาดว่ามีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากการรอความชัดเจนทางด้านการเมืองภายในประเทศ และสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ โดยปัจจัยบวกที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น ได้แก่ การปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี หรือการผ่อนคลายการลด Balance Sheet ให้ช้าลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางยุโรปที่เริ่มออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรปให้เติบโตมากขึ้น 

         อีกทั้งรัฐบาลจีนที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวก่อนหน้าจากผลกระทบของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประกอบกับราคาน้ำมันที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ทำการแทรกแซงการรับซื้อน้ำมันจากประเทศอิหร่านโดยเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2562 ภายหลังจากที่ก่อนหน้าได้มีการผ่อนผันให้กลุ่มประเทศหลัก ซึ่งได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี ที่สามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเป็นเวลา 6 เดือน โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลง 0.6 – 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน

         ในขณะที่การประชุมของกลุ่ม OPEC ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการปรับกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC เพื่อทำให้เกิดสเถียรภาพของราคาน้ำมันเกิดขึ้นช้ากว่าการแทรกแซงน้ำมันจากปะเทศอิหร่าน ทำให้น้ำมันในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนมีโอกาสอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม MSCI ได้ปรับน้ำหนักตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 3.0% ซึ่งคาดว่าจะมีเงินเข้ามาซื้อหุ้นไทยจากการปรับน้ำหนักเพิ่มของดัชนี MSCI เป็นจำนวน 8 หมื่นล้านบาท จากปัจจัยบวกดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน

         อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยลบที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้แก่ เรื่องความไม่แน่นอนเรื่องการเมืองภายในประเทศทำให้ส่งผลกับความมั่นใจของนักลงทุน รวมถึงนโยบายที่จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็ยังไม่สามารถทำได้มากนักซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 อาจจะเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งเนื่องจากความไม่ชัดเจนเรื่องสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะลงทุนเพิ่มเติม จากปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจยุโรปและจีนทำให้มีการเติบโตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ถึงปัจจุบัน

         ในขณะที่ Valuation ของหุ้นไทย Forward P/E ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 15.7 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่อยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า ซึ่งอยู่ที่ระดับที่ไม่ถือว่าหุ้นไทยถูกมากนัก ดังนั้นการจัดพอร์ตการลงทุนจำเป็นต้องมีการผสมผสานการลงทุนในหุ้นประเภทต่างๆ ให้มีความเหมาะสมเพื่อรองรับหุ้นขาขึ้น และไม่ควรทำให้พอร์ตผันผวนมากเกินไปนัก

         ภายใต้เศรษฐกิจทั่วโลกที่มีความผันผวนสูง เราสามารถแบ่งการลงทุนในหุ้นได้เป็น 4 แบบด้วยกัน คือ 1) หุ้น Quality Stock ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 - 3 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ ทั้งหุ้นที่ได้รับประโยชน์จาก EEC การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 2) หุ้น Growth Stock ที่มีแนวโน้มเติบโตในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้า และ Valuation อยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น กลุ่มน้ำมัน กลุ่มการเงิน เป็นต้น 3) หุ้น High Dividend Yield เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มปันผลสูง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีความผันผวนต่ำในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง และ 4) หุ้นที่มีความยั่งยืน หรือหุ้นที่อยู่ในดัชนี THSI (Thailand Sustainability Investment) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม มีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และเป็นการสร้างมูลค่าในระยะยาวให้กับบริษัท

         สถานการณ์ยังมีความผันผวนอยู่อย่างมาก มีหลายปัจจัยที่เรายังต้องจับตาเพื่อประโยชน์และแนวยทางการลงทุนของเรานะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​