Worldwide Wealth by SCBAM : แนวโน้มการลงทุนที่น่าจับตามองในปี 2562

22 กุมภาพันธ์ 2562

         หลังจากที่ก้าวข้ามปีจอซึ่งเป็นปีที่มีความผันผวนมากมาย และมีผลตอบแทนการลงทุนไม่น่าประทับใจมากนัก เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การตอบโต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จำนวน 4 ครั้ง และปัญหาเรื่องค่าเงินในกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ และในปี 2562 นี้เป็นปีหมูที่จะหมูหรือไม่มีแนวโน้มการลงทุนใดที่น่าจับตามองและให้ความสนใจเป็นพิเศษ เรามาดูกันครับ

         ในปีนี้นับว่าเป็นปีแห่งความผันผวนในตลาดทางการเงินโลก ผลประกอบการของบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ และเศรษฐกิจทั่วโลกถูกมองว่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมีการคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ปี 2562 จะเติบโตเหลือเพียงร้อยละ 9 จากร้อยละ 24 ในปี 2561 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่วัฏจักรการเติบโตที่ไม่ร้อนแรงเท่าเดิม นอกจากนั้นธนาคารกลางในยุโรปและญี่ปุ่นกำลังจะเริ่มยุติโครงการ Quantitative Easing (QE) และยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน  รวมทั้งฝั่งยุโรปก็ยังคงมีความกังวลทางการเมืองและการคลังในประเทศอิตาลี และกระบวนการในการดำเนินการกรณี Brexit ที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ส่งผลให้ความผันผวนของตลาดทางเงินโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อในปีนี้

         ในปีที่ผ่านมา ตลาดเงินของกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ถูกผลกระทบหลายด้านๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปัญหาเรื่องค่าเงินในประเทศต่างๆ และการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามสำหรับปี 2562 แม้ว่าเศรษฐกิจของจีนถูกมองว่าจะเติบโตลดลงเพียงเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ตลาดหุ้นของจีน A-Share ก็ได้มีการปรับตัวลดลงมา 30% จากจุดสูงสุดในปีที่ผ่าน ทำให้ valuation ของตลาดหุ้นจีนอยู่ในจุดที่น่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจุบันมีการเทรด A-Share ที่ P/E ratio ราว 18.07 เท่า (ณ วันที่ 1 ก.พ.62) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ 19.23 เท่า ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลยังเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและปฏิรูปโครงสร้างทางภาษี เช่น ลดภาษีนำเข้าบางประเภท ลดภาษีนิติบุคคล และลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ โดยมีอัตราส่วนที่บอกความคุ้มค่าของการลงทุน (Risk Reward Ratio หรือ RRR) ลงร้อยละ 1 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนของจีน

         นอกจากนั้นตัวเลขดัชนีชี้วัดการหดตัว / การขยายตัวของเศรษฐกิจ (Purchasing Manager Index หรือ PMI) ในบางประเทศของตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดีย และบราซิล เป็นต้น ก็ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น ( PMI ของอินเดียและบราซิล ณ 31 ม.ค.62 อยู่ราว 53.9 และ52.7 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย PMI ของอินเดีย และบราซิลในปี 2561 ที่ 52.33 และ 51.63 ตามลำดับ) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในบางประเทศของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ยังสามารถเติบโตได้ โดยปี 2562 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มมีความระมัดระวังในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นกว่าปี 2561 อันเป็นผลมาจากการชะลอในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จึงน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณในการฟื้นตัวของตลาดการเงินในตลาดเกิดใหม่ ( Emerging Market) ในปีนี้

         แม้ว่าปี 2562 ภาพรวมของการลงทุนในตลาดทางการเงินโลกยังเต็มไปด้วยความท้าทายและไม่แน่นอน แต่เราก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดทางการเงินในบางประเทศในตลาดเกิดใหม่ ดังนั้นอาจจะเป็นโอกาสทองในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ก็เป็นได้นะครับ  

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​