Worldwide Wealth by SCBAM : ศึกสงครามสมาร์ทโฟน

20 มิถุนายน 2562

         ปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้ลุกลามไปยังบริษัทเอกชนอย่างหัวเว่ย หลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับหัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดของประเทศจีนก่อนได้รับอนุญาต โดยให้เหตุผลว่าหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคง อย่างไรก็ตามรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ระยะเวลา 3 เดือนสำหรับบริษัทสัญชาติอเมริกันสามารถทำธุรกิจกับหัวเว่ยได้เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น บริษัทหัวเว่ยเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่อันดับต้นๆของโลก ซึ่งข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ปี 2018 หัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 14% นอกจากนั้นหัวเว่ยยังเป็นผู้นำด้านการวางระบบโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานทั้ง 3G 4G และ 5G โดยมีส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมโลก 28% ซึ่งหากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตจะพบว่าหัวเว่ยมีการเติบโตค่อนข้างเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในตลาดโทรศัพท์มือถือในปี 2010 หัวเว่ยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 0.6% เช่นเดียวกันกับตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่หัวเว่ยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 6.2% ในปี 2007 ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีความกังวลว่าหากปล่อยให้หัวเว่ยยังคงมีส่วนแบ่งตลาดทั้งสมาร์ทโฟนและโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานไว้ในมือ จะเป็นภัยต่อความมั่นคงหากเกิดความขัดแย้งกันของทั้งสองประเทศในอนาคต เนื่องจากในทางทฤษฎีแล้วเจ้าของเทคโนโลยีมีความสามารถในการควบคุม โดยเฉพาะในยุค 5G ที่จะมีการใช้ข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น และจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ป้อนตลาด เช่น รถยนต์ไร้คนขับ การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านหรือเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

         หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศห้ามให้บริษัทในสหรัฐฯ ทำธุรกิจกับหัวเว่ย โดยบริษัทกูเกิลก็ได้ประกาศหยุดทำธุรกิจกับหัวเว่ย ทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยในปัจจุบันอาจไม่สามารถอัปเดตซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ได้ในอนาคต และสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ของหัวเว่ยจะไม่สามารถใช้งาน Google’s Play Store และยังมีแอปพลิเคชันต่างๆ ของกูเกิล เช่น YouTube, Google Maps และ Chrome ก็ไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน ทำให้ผู้ที่จะซื้อสมาร์ทโฟนหัวเว่ยอาจชะลอการซื้อหรือเปลี่ยนไปซื้อสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่นแทน ดังนั้นสมาร์ทโฟนยี่ห้ออื่น เช่น Samsung, Oppo หรือ Vivo ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และมีราคาสมาร์ทโฟนที่ใกล้เคียงกับหัวเว่ยมีโอกาสได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ ในขณะที่บริษัท Apple อาจจะได้รับผลกระทบในแง่ลบหากในประเทศจีนมีการจุดกระแสชาตินิยมและทำให้คนจีนไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามบริษัทหัวเว่ยได้ประกาศว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการของตัวเอง ซึ่งหัวเว่ยเรียกชื่อระบบปฎิบัติการใหม่นี้ว่า HongMeng ทำให้ในอนาคตจะมีระบบปฏิบัติการบนมือถือเพิ่มอีกหนึ่งราย ซึ่งมีโอกาสมาแย่งส่วนแบ่งตลาดจากระบบปฏิบัติการของฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งมี Android ของบริษัท Google และ iOS ของบริษัท Apple

         อย่างไรก็ตามปัญหาใหญ่ของบริษัทหัวเว่ยนั้นมีด้วยกันสองเรื่อง เรื่องแรกคืออุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในสมาร์ทโฟน บางส่วนของหัวเว่ยนั้นยังต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ของบริษัทสหรัฐฯ อยู่ เช่น บริษัท Qorvo Skyworks และ Micron หากบริษัทหัวเว่ยต้องการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาทดแทนอาจจะต้องลงทุนสูงและใช้เวลาในการวิจัยเพื่อให้ได้คุณภาพใกล้เคียงกับของที่ใช้ในปัจจุบัน อีกหนึ่งปัญหาหลักคือบริษัท ARM ได้ประกาศหยุดทำธุรกิจกับหัวเว่ย ซึ่งบริษัท ARM นั้นเป็นเจ้าของชุดคำสั่งหรือสถาปัตยกรรมซีพียูของสมาร์ทโฟนเกือบทั่วโลก และ ซีพียูของ Huawei หรือ Kirin ก็ใช้ระบบสถาปัตยกรรมของบริษัท ARM แม้ว่าหัวเว่ยยังมีใบอนุญาตถาวรของ ARMv8 แต่อาจจะไม่เพียงพอหากเทคโนโลยี 5G ยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทำให้หัวเว่ยอาจจะต้องพัฒนาสถาปัตยกรรมซีพียูของตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ลำบากเพราะนักพัฒนาแอปพลิเคชันต้องเรียนรู้ชุดคำสั่งใหม่ ดังนั้นการที่บริษัท ARM ประกาศยกเลิกทำธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ยนั้นอาจทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ชะลอลง

         สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ รัฐบาลจีนและบริษัทหัวเว่ยจะมีการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครั้งนี้ และสงครามการค้าในครั้งนี้ทำให้บริษัทหัวเว่ยได้ตระหนักถึงการพึ่งพาบนเทคโนโลยีตัวเองมากยิ่งขึ้นในอนาคต หากหัวเว่ยสามารถทำระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของตัวเองสำเร็จ บริษัท Google และ Apple อาจจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอีกหนึ่งรายที่จะมาแย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคต ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับบริษท Samung Oppo, Vivo ที่มีโอกาสได้ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนจากบริษัทหัวเว่ย และบริษัท Ericsson และ Nokia ที่มีโอกาสได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในการวางโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานสำหรับยุค 5G ที่กำลังใกล้เข้ามา

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​