Worldwide Wealth by SCBAM : การลงทุนในสกุลเงินดิจิตอล

20 มีนาคม 2561

          ทุกวันนี้คำว่า Bitcoin, Cryptocurrencies หรือ Initial Coin Offering (ICO) เป็นคำที่เราเริ่มจะคุ้นหูมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในแวดวงการลงทุนที่เห็นการเติบโตของจำนวนผู้ที่นำเงินไปลงทุนใน Bitcoin หรือ สกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการที่บริษัทในไทยเริ่มมีแนวคิดที่จะระดมทุนผ่าน ICO กันมากขึ้น เช่น Omisego หรือ JFinCoin เป็นต้น

          Bitcoin คืออะไร? Bitcoin เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิตอล (Cryptocurrencies) ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด โดยวัดจากมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 189,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Bitcoin ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้แทนสกุลเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับทองคำซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีวันหมดลง จำนวนเหรียญของ Bitcoin ถูกกำหนดมาให้มีเพียง 21 ล้านเหรียญ และปัจจุบันจำนวน  Bitcoin ที่ถูกนำมาซื้อขายในตลาด มีอยู่ประมาณ 16.7 ล้านเหรียญ ส่วนจำนวนที่เหลือจะทยอยถูกนำออกมาขายในตลาดผ่านกระบวนการ Mining หรือ การขุด ซึ่งการขุดนี้จะทำโดยนักโปรแกรมเมอร์ และอัตราการได้เหรียญใหม่นั้นจะถูกทำให้ได้มายากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับ demand และ supply ในปัจจุบันนักลงทุนสามารถลงทุนใน Bitcoin หรือ สกุลเงินดิจิตอลได้ โดยแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ ได้แก่ 1) การซื้อและการขาย Bitcoin ผ่าน Broker ได้ทันที โดยวิธีนี้ผู้ที่ซื้อจะหวังว่าราคาของ Bitcoin จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ Bitcoin ที่เพิ่มมากขึ้น และ 2) การ Mining หรือ การขุด โดยต้นทุนหลักคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การ์ดจอ คอมพิวเตอร์ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ ค่าจ้างผู้ดูแลระบบ ซึ่งวิธีนี้ผู้ลงทุนจะได้เหรียญหรือ Bitcoin แล้วนำเหรียญ Bitcoin ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน

แม้ว่า Bitcoin จะเป็นสกุลเงินที่โด่งดังที่สุด แต่ในปี 2560 Ripple กลับเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุด  โดยเติบโตถึง 36,018% ในขณะที่ Bitcoin อยู่ในลำดับที่ 14 โดยเติบโต 1,318%

          

          อย่างไรก็ดีความเสี่ยงในการลงทุน Bitcoin นั้นมีอยู่หลายประเด็น ประเด็นแรกคือ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่คอยกำกับดูแลและให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ประเด็นที่สอง ราคาของ Bitcoin นั้นมีความผันผวนในแต่ละวันสูงมาก จึงไม่เหมาะที่นักลงทุนจะถือครองสินทรัพย์ประเภทนี้ไว้นาน เนื่องจากมูลค่าของสินทรัพย์ยังขาดเสถียรภาพ และประเด็นที่สาม ข้อมูลและระบบที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin เป็นระบบ Digital ทั้งหมด จึงมีความเสี่ยงที่ระบบจะถูกโจรกรรมข้อมูลโดย Hacker ได้

          ส่วน Initial Coin Offering (ICO) นั้นเป็นวิธีการอีกรูปแบบหนึ่งในการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิตอล โดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกับการทำ Initial Public Offering (IPO) ของบริษัทเอกชน ซึ่งผู้ระดมทุนมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้มาไปพัฒนาธุรกิจ อย่างไรก็ตามการทำ ICO นั้นยังไม่มีหน่วยงานใดกำกับดูแล จึงมีความเสี่ยงสูงกว่าการระดมทุนแบบปกติค่อนข้างมาก แม้ว่า ICO จะทำผ่านระบบ Blockchain ซึ่งเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส แต่ผู้ลงทุนใน Coin จะไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าเจ้าของบริษัทได้นำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ก่อนหน้าหรือไม่ ดังนั้นผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างระมัดระวังก่อนการลงทุน โดยอาจศึกษาจากรายงานบทสรุป (White Paper) ซึ่งเป็นแผนธุรกิจของบริษัท

          นอกจากนี้การระดมทุนแบบ ICO กับ IPO ยังคงมีความแตกต่างกันในแง่ของสิทธิความเป็นเจ้าของในบริษัท โดยในการะดมทุนแบบ IPO ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิและผลตอบแทนในรูปแบบของสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุม และเงินปันผล เป็นต้น ในขณะที่สิทธิของผู้ที่ถือ Coin จาก ICO นั้นจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจที่กำหนดว่า Coin จะถูกนำไปใช้อย่างไร เช่น ถูกนำไปใช้ในการทำธุรกรรมหากบริษัทสามารถพัฒนาธุรกิจของตัวเองสำเร็จแล้ว ใช้ในการโหวต หรือ ใช้ในการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า เป็นต้น นอกจากนั้นการทำ IPO จะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรม ก.ล.ต. และการระดมเงินลงทุนจะถูกจำกัดอยู่เพียงในตลาดใดตลาดหนึ่ง ในขณะที่การทำ ICO บริษัทสามารถทำได้เองผ่านระบบออนไลน์ และสามารถระดมทุนจากแหล่งเงินทุนได้ทั่วโลก โดยหลังจากที่นักลงทุนได้รับ Coin แล้ว ผู้ลงทุนสามารถทำการซื้อขาย coin ได้ผ่านตลาดรอง หรือ Secondary Market ที่มีให้บริการอยู่ทั่วโลก

          การลงทุนใน Coin นั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างระมัดระวัง และรอบคอบว่าบริษัทนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และโมเดลธุรกิจที่บริษัทนำเสนอมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างกำไรให้กับบริษัทหรือไม่ เพราะมูลค่าของ Coin จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการและความก้าวหน้าของบริษัทผู้ระดมทุน

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​