เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยจากตัวเลข GDP ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 1.9 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากความล่าช้าในการอนุมัติ พรบ.งบประมาณปี 2567 รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่มาจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยตัวชี้เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยหลังไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป และคาดว่า GDP ในครึ่งปีหลังนี้จะเร่งตัวขึ้นได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
นักลงทุนเริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อเม็ดเงินงบประมาณที่เริ่มทยอยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้นเพิ่มเติมในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 นั้น หลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าและความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจะเห็นว่าตลาดมีการตอบรับเชิงบวกมากขึ้น จากการเลือกนายกฯ คนใหม่ที่มีความรวดเร็ว ตลอดจนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและการแถลงนโยบายรัฐบาลที่น่าจะเรียบร้อยในเดือนกันยายน จึงคาดหมายว่าการทำงานของรัฐบาลจะมีความต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งน่าจะล่าช้าไม่มากนัก
สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม และคาดว่ามาตรการโดยรวมจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะสร้างบรรยากาศโดยรวมที่เป็นบวกต่อตลาดทุน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายประเทศ ที่คาดว่าจะมีการปรับนโยบายใหม่เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคให้เข้าถึงง่ายและเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเบื้องต้น รัฐบาลอาจมีการปรับเปลี่ยนเป็นการแจกเงินสดให้กับกลุ่มผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเดือนกันยายน จำนวนประมาณ 14 ล้านคน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการแจกในรูปแบบเงินสดผ่านบัตรดังกล่าวจะมีเงื่อนไขน้อยกว่า ดังนั้น กลุ่มที่ได้รับประโยชน์น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านร้านค้าชุมชน ทั้งนี้ งบประมาณของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 1.4-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ เนื่องจาก พรบ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาทที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว และภาครัฐยังมีงบกลางสำหรับปีงบประมาณ 2567 อยู่อีก 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 สามารถเติบโตได้มากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเป็นช่วง High season ของภาคการท่องเที่ยวไทย จะยิ่งเสริมให้การบริโภคฟื้นตัวแรงมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ อาจจะมีมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นตามมาเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสที่ 4
นอกจากมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจแล้ว มาตรการกระตุ้นตลาดทุนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดได้ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอยู่ในระหว่างการพิจารณานำกองทุนวายุภักษ์กลับมาเสนอขายอีกครั้ง เพื่อช่วยดึงเม็ดเงินใหม่ให้ไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย หลังจากที่เงินทุนได้ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี โดยหลังการเสนอขายกองทุนให้กับนักลงทุนทั่วไป จะมีการนำเงินไปลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงทางธุรกิจ และมีการจ่ายเงินปันผลสูง โดยคาดว่านโยบายของกองทุนวายุภักษ์จะมีลักษณะคล้ายเดิม คือ มีการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ และคุ้มครองเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุกองทุน โดยการระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ครั้งนี้ อาจได้เม็ดเงินลงทุนใหม่ประมาณ 1 แสนล้านถึง 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีผ่านการลงทุนในกองทุน Thai ESG ที่ประกาศออกมาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดใหม่ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากรวมเม็ดเงินจากทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว ก็จะมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น ซึ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในระดับปัจจุบัน อยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุน หุ้นที่คาดว่าได้รับประโยชน์เป็นหุ้นขนาดใหญ่ พื้นฐานดี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
แม้ว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีแรกจะยังดูไม่สดใสมากนัก แต่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง ภายหลังจากการเมืองมีแนวโน้มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยตอบรับเชิงบวก ภายหลังจากการที่มีการเลือกนายกฯ ท่านใหม่อย่างรวดเร็ว ประกอบกับคณะรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ดังนั้น มาตรการของรัฐบาลหลังจากนี้ น่าจะมีความชัดเจนและสามารถนำมาปรับใช้ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น คาดว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวน่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการภาครัฐที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้ง หุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีการจ่ายเงินปันผลดีที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ และเม็ดเงินลงทุนใหม่จากกองทุน Thai ESG ดังนั้น โดยรวมแล้ว SCBAM จึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทย และคาดว่าจะมีการโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด