Worldwide Wealth by SCBAM : กองทุนบริหารแบบ Active จริงหรือ...ดูอย่างไร

18 มกราคม 2562

         ถ้าจะกล่าวถึงชนิดของกองทุนที่มีเสนอขายอยู่ตามท้องตลาดนั้น นอกจากเราจะแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ตามประเภทสินทรัพย์หรือสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเภทสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไปแล้ว กองทุนยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามวัตถุประสงค์ของการบริหารกองทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (Benchmark) โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่ม Passive Management ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับตัวชี้วัดของกองทุน ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่ม Active Management ซึ่งมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าตัวชี้วัดของกองทุน แต่ทว่าเครื่องมือหรือตัวบ่งชี้ (Indicator) ประเภทใดที่จะสามารถแยกแยะหรือให้คะแนน Active ของกองทุนได้อย่างเหมาะสม ในวันนี้เราจะขอนำเสนอเครื่องมือในกลุ่มนี้ 2 ตัว คือ Tracking Error และ Active Share ซึ่งจะสามารถช่วยท่านแบ่งแยก Active ของกองทุนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกกองทุนที่จะลงทุนกันนะครับ

         โดยทั่วไปหลายท่านอาจจะเคยได้ยินว่าตัวชี้วัดในมุมของการเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการดำเนินงานส่วนเพิ่ม (Excess Return) ซึ่งค่าความผันผวนของ Excess Return นี้ เราเรียกว่าค่าความผันผวนของส่วนต่างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Tracking Error หรือ T.E.) Tracking Error นี้จะเป็นเครื่องมือตัวที่ 1 ในการวัดความ Activeness ของกองทุน ซึ่งค่าTracking Error นี้ยิ่งมากยิ่งบ่งชี้ถึง Activeness ของกองทุน ค่านี้เป็นที่นิยมใช้กันมาช้านานและยังสามารถใช้ประกอบกับ Excess Return เพื่อดูค่าผลตอบแทนส่วนเพิ่มต่อค่าความผันผวนของผลตอบแทนส่วนเพิ่มหรือ Information Ratio สำหรับ Tracking Error จึงเรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือมาตราฐานของกลุ่มอุตสาหกรรมการลงทุนเลยทีเดียว ส่วนเครื่องมือตัวที่ 2 ของเรานั้นคือค่าผลรวมส่วนต่างของน้ำหนักการลงทุนในแต่ละตัวสินทรัพย์เมื่อเทียบกับน้ำหนักของสินทรัพย์ตัวนั้นในตัวชี้วัดของกองทุน (Active Share) เครื่องมือตัวที่ 2 นี้เพิ่งเริ่มมาเป็นที่นิยมในช่วงหลังเนื่องด้วยความง่ายและกระจ่างในการคำนวณ Active Share โดยคาดว่าจะมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือมาตรฐานของอุตสาหกรรมในเร็วๆ นี้

         จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดทั้งสองตัวนี้สามารถบ่งบอก Active ของกองทุนได้ทั้งคู่ แต่จากผลการศึกษาแล้ว Activeness ของกองทุนเกิดได้จากการที่กองทุนเปิดรับความเสี่ยง โดยที่ความเสี่ยงแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ 1) Systematic Risk หรือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับทั้งตลาด ไม่สามารถลดได้ด้วยการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง และ 2) Specific Risk หรือความเสี่ยงเฉพาะตัวหลักทรัพย์ สามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ด้วยการกระจายการลงทุน ทั้งนี้ค่า Active Share จะบ่งบอกถึง Activeness ของกองทุนในส่วนของความเสี่ยงเฉพาะตัวหลักทรัพย์ ในขณะที่ Tracking Error จะบ่งบอกถึง Activeness ของกองทุนที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงทั้งสองประเภท หรือกล่าวโดยสั้นคือ Active Share เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Tracking Error นั่นเอง ทั้งนี้จากผลการศึกษายังพบว่า Active Share ค่อนข้างที่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก เช่น ลักษณะของตัวชี้วัด (Benchmark) ลักษณะการให้น้ำหนักการลงทุนของกองทุน รวมถึงลักษณะของนโยบายการบริหารของกองทุน กล่าวคือค่าปัจจัยภายนอกดังกล่าวที่แตกต่างกันจะทำให้ค่า Active Share ค่อนข้างที่จะแตกต่างกัน

         ภายใต้ลักษณะการบริหารงานแบบ Active Management เรายังสามารถแบ่งประเภทของกองทุนออกได้เป็น 4 แบบดังตารางประกอบ ซึ่งหากเราใช้เครื่องมือในการวัด Activeness ทั้งสองตัวดังกล่าวช่วย เราจะเห็นว่าจริงๆ แล้วกองทุนเหล่านั้นบริหารงานตรงตามกับประเภทหรือนโยบายที่ให้ไว้หรือไม่ โดยจากตารางจะเห็นว่าค่าของเครื่องมือวัด Activeness ทั้งสองเครื่องมือมีค่าขัดแย้งกันในกองทุนที่มีลักษณะการลงทุนแบบ Factor bets และ Stock Pickers เนื่องจากว่าสัดส่วนของค่าความเสี่ยงทั้งสองประเภทของกองทุนในทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เครื่องมือ Active Share เพียงตัวเดียวไม่ได้บ่งชี้ถึง Activeness ที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงทั้งหมดที่กองทุนมี

         กล่าวได้ว่าถึงแม้ Active Share จะเป็นเครื่องมือวัด Activeness ที่น่าใช้งานเนื่องจากความง่ายต่อความเข้าใจในการคำนวณ แต่ควรจะใช้ควบคู่กับ Tracking Error เพื่อให้การอ่านผลมีความแม่นยำและเหมาะสมกับนโยบายของกองทุนนั้นๆ มากขึ้น และเครื่องมือวัด Activeness ควรจะใช้เปรียบเทียบกันภายในกลุ่มกองทุนที่มีนโยบายการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกันตามการแบ่งประเภทในตาราง ทั้งนี้ควรใช้ควบคู่กับเครื่องมือในกลุ่มอื่นเช่น Excess return และ Information ratio เพื่อให้การอ่านค่ามีประสิทธิผลมากขึ้นเพื่อคัดเลือกกองทุนที่มีคุณภาพทั้งยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนของท่านอีกด้วย นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ผมก็ยังขอย้ำนะครับว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อประโยชน์ของท่านด้วยนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​