Worldwide Wealth by SCBAM : สงครามการค้าโลกยังคงยืดเยื้อ

16 สิงหาคม 2561

         สงครามการค้ายังคงเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สหรัฐฯ ได้เปิดฉากการขึ้นภาษีโซล่าเซลล์และเครื่องซักผ้าเมื่อช่วงต้นปี และต่อมาก็ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% กับประเทศคู่ค้า ซึ่งต่อมาสหภาพยุโรปเองก็ได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ 25% มูลค่ากว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้เจรจาตกลงที่จะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าได้ พร้อมทั้งจะมีการทบทวนส่วนที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมถึงจะร่วมกันลดภาษีนำเข้าบางรายการอีกด้วย จึงช่วยลดความตึงเครียดเรื่องสงครามการค้าลงได้ส่วนหนึ่ง

         อย่างไรก็ดี ตัวแปรสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากที่สุด คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศจีน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มากที่สุดและสามารถส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้อย่างมาก ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 61 ประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 25% คิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงจำกัดการลงทุนที่เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ของบริษัทข้ามชาติของจีนโดยเฉพาะหมวดเทคโนโลยี ซึ่งประเทศจีนเองก็ตอบโต้ทันทีด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯที่ 25% รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน

         โดยมีการคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายกแรกนี้จะกระทบต่อ GDP ของสหรัฐฯ ประมาณ 0.2-0.3% ขณะที่ประเทศจีนจะได้รับผลกระทบประมาณ 0.3-0.4% และล่าสุดเมื่อช่วงปลาย ก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ได้ประกาศว่ามีแผนที่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับจีนเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวนสินค้า 6,031 รายการ ซึ่งหากรวมกับมูลค่าการขึ้นภาษีนำเข้าที่ประกาศก่อนหน้านี้ จะคิดเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนซึ่งอยู่ที่ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจีนก็ออกมาตอบโต้ว่าพร้อมจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่อัตราภาษี 5%, 10%, 20% และ 25% ครอบคลุมสินค้า 5,207 รายการ เช่นกัน โดยเป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ อาทิ เนื้อสัตว์  ข้าวสาลี ไวน์ เครื่องบินขนาดเล็กและกลาง น้ำมันถั่วเหลือง ไม้แปรรูป และชิ้นส่วนรถยนต์ โดยทางการจีนยังคงไม่ได้กำหนดวันที่จะมีผลบังคับใช้ซึ่งทางการจีนยังคงจับตาดูท่าทีของสหรัฐฯที่จะกลับมาเจรจาหรือไม่

         การต่อสู้กันไปมาระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทั้งสองประเทศ ความยืดเยื้อในการต่อสู้ทางการค้าได้สร้างความกังวลและส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนของนักลงทุน ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ในระยะสั้นสงครามการค้ายังคงส่งผลจำกัดต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าจะกระทบต่อ GDP ที่ 0.2-0.3% เนื่องจากสินค้าบางกลุ่มของไทยจะได้รับประโยชน์ในการส่งออกไปยังจีนเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าที่นำเข้าจากจีนได้ จะเป็นสินค้าประเภทสินค้าอุตสาหกรรมสำเร็จรูปขั้นต้น เช่น พลาสติกแปรรูป ยางล้อ น้ำมันแปรรูป เคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ขณะที่สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าจะเป็นการได้รับผลกระทบทางอ้อมในด้านของการเป็นสินค้าใน Supply chain ของผู้ผลิตในสหรัฐฯ และจีน

         อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างน้อยถึงช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ช่วงพฤศจิกายนนี้และยังมีโอกาสยืดเยื้อต่อไปอีกโดยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปีหน้าเป็นต้นไป และอาจจะส่งผลกระทบไปถึงการลงทุนและผลกำไรของภาคธุรกิจต้องสะดุดลง ทั้งยังทำให้เกิดความผันผวนของราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยน กระแสเงินทุนทั่วโลก  ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องติดตามและเตรียมพร้อมรับมือรับความไม่แน่นอนดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิดด้วยนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​