Worldwide Wealth by SCBAM : มุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2020

15 มกราคม 2563

         เศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เผชิญกับความท้าทายอย่างมากโดยเฉพาะการหดตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนหยุดชะงัก โดยความเสี่ยงหลักๆ มาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น นอกจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทางทวีปยุโรปก็เผชิญกับความเสี่ยงจากการเจรจา Brexit ที่ยืดเยื้อและยังไม่สามารถตกลงกันได้ จากความเสี่ยงหลายๆ ด้าน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เองก็คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2019 จะขยายตัวในอัตราเพียง 3% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 - 2009 อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของภาคการผลิตจะปรับตัวลดลงแต่ภาคบริการยังคงไม่ได้รับผลกระทบ และยังมีอัตราการเติบโตที่ดีอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  ตลาดแรงงานและการบริโภคภายในประเทศยังคงมีความแข็งแรงอยู่มาก สำหรับปี  2020 นี้เป็นปีที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เราคาดว่าจะส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนพัฒนาไปในด้านบวกมากขึ้น การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีโอกาสจะได้ลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งจะมีสินค้าบางส่วนได้รับการปรับระดับอัตราภาษีลงด้วย นอกจากนี้การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางประเทศหลักๆ ของโลก ทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลเพิ่มขึ้น จากสหรัฐฯ และยุโรป จะช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป

         แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางโลกในปี 2020 จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสภาพคล่องในตลาดเงินยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นการลดดอกเบี้ยเหมือนกับเมื่อปี 2019 เนื่องจากทางธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้มีการส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางของยุโรปและญี่ปุ่นยังดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทั้งนี้สภาพคล่องในตลาดเงินโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากธนาคารกลางยุโรปที่กลับมาดำเนินนโยบาย QE (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Easing) โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนโดยยังไม่ได้มีกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ ขณะที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯเองก็ทยอยปรับเพิ่มขนาดงบดุลของตัวเองเช่นเดียวกัน โดยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปี 2019 ได้มีการอัดฉีดเงินเข้าระบบไปแล้วกว่า 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าธนาคารกลางหลักๆ ของโลกได้มีการกลับมาใช้นโยบาย QE อีกครั้ง

         ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปี 2020 ปัจจัยแรกคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัจจุบันคะแนนนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเทียบกับคะแนนนิยมในสมัย บารัค โอบามา (2009-2017) จอร์จ ดับเบิลยู บุช (2001-2009) หรือ บิล คลินตัน (1993-2001) ในขณะที่ผู้ท้าชิงในฝั่งพรรคเดโมแครตมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกันทั้งในเรื่อง การเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การประกันสุขภาพ และการค้าระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นในช่วงที่พรรคเดรโมแครตมีผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีที่ชัดเจนก็จะส่งผลกระทบต่อความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ปัจจัยที่ 2 มีความเป็นไปได้ที่นโยบายการค้าระหว่างสหรัฐฯและ จีนกลับมารุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังเลือกตั้งประธานาธิบดี

         กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำในปีนี้สำหรับตราสารทุน มองว่าตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มบวก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศหลักของโลกที่ดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องจะช่วยจำกัดความเสี่ยงภาวะถดถอย (Recession) โดยกลุ่มประเทศที่น่าลงทุนได้แก่ตลาดหุ้นเอเชีย ซึ่งน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการที่สหรัฐฯ และจีนสามารถลงนามข้อตกลงการค้า และคาดว่าภาคการส่งออกของประเทศในภูมิเอเชียจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2020 เนื่องจากได้รับอานิสงค์จากธนาคารกลางจีนกระตุ้นการขยายตัวของสินเชื่อภายในประเทศ สำหรับตลาดหุ้นพัฒนาแล้วตลาดหุ้นยุโรปเป็นตลาดหุ้นที่ยังมีแนวโน้มดี จากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของสภาพคล่อง และความเสี่ยงจากการเจรจา Brexit ปรับตัวในทิศทางที่ดี นอกจากนี้ยังแนะนำให้เพิ่มการลงทุนในหุ้น US Small Cap ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีในช่วงที่ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ฟื้นตัว ทั้งนี้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกอาจไม่สูงเท่าปี 2019 เนื่องจากตลาดได้มีการรับรู้ข่าวดีจากความตรึงเครียดสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไปบ้างแล้วในไตรมาสที่ 4

         สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้โลกนั้นผลตอบแทนของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีปรับลดลงไปค่อนข้างมาก แนะนำให้ลดการลงทุน และเพิ่มการถือครองตราสารตลาดเงินเพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น จากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทน

         ในส่วนของการลงทุนทางเลือก การลงทุนใน Property, REITs และ Infrastructure น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีหลังราคาปรับตัวลงมาในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่วนต่างของอัตราปันผลปรับตัวขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวลงมาในระดับต่ำ จึงยังแนะนำให้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้กับพอร์ตโดยรวม

         การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงมากน้อยต่างกัน นอกจากการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายแล้ว การศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​