Worldwide Wealth by SCBAM : การกลับสู่สมดุลของสภาพคล่องโลก กับ ความท้าทายในปี 2562

13 พฤศจิกายน 2561

         จากวิกฤต Hamburger ในช่วงปลายปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (“Fed”) ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมถึง 3 ครั้ง ตามที่เรารู้จักกันในนาม Quantitative Easing หรือ QE ซึ่งเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้งบดุลของ Fed ขยายตัวจากราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยวิกฤตดังกล่าวยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ต่างก็นำมาตรการ QE มาใช้เช่นกัน และก่อให้เกิดสภาวะสภาพคล่องล้นระบบ

         มาตรการข้างต้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ Fed เริ่มถอนยากระตุ้น โดยการปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น เริ่มจากการยุติมาตรการ QE ในช่วงปลายปี 2557 ตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งท้ายด้วยการประกาศเริ่มปรับลดขนาดงบดุลเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (“ECB”) ได้ประกาศจะยุติการทำ QE ในปี 2562 ด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงเป็นการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “Normalize” เศรษฐกิจและการเงินโลกด้วย

         แม้การใส่เกียร์ถอยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และยุโรป (ECB) จะไม่ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดมากนัก เนื่องจากมีการส่งสัญญาณล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามยังต้องจับตามองการเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่อาจตามมาอย่างใกล้ชิด โดยผมมองว่าความท้าทายในปี 2562 ภายใต้ระดับสภาพคล่องทั่วโลกที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเป็นลำดับ ประกอบด้วยปัจจัยแรก จากการรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง ด้วยการขยายฐานการเติบโตให้กว้างขึ้นทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการขยายฐานประเทศคู่ค้าเพื่อลดการพึ่งพิงและลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าโลก

         ปัจจัยที่สอง จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคลายความกังวลเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน และสามารถกำหนดทิศทางนโยบายการเงินโดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ รวมทั้งกำหนดให้มีช่องว่างในการกำหนดนโยบาย (Policy Space) ที่เหมาะสม

         ปัจจัยที่สาม เกิดจากการจัดการกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อแสวงหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และปัจจัยสุดท้ายเกิดจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้โลกเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากการลดขนาดงบดุล

         แต่ทั้งนี้ ก็เริ่มมีนักวิเคราะห์บางรายที่เริ่มออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลักได้เข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ซึ่งถ้าบทวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นความจริง เราอาจจะกลับมาเห็นสภาพคล่องที่ล้นโลกอีกรอบก็ได้นะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​