ในยุคที่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กลายเป็นหัวใจของหลายธุรกิจ การลงทุนใน ESG Bond หรือตราสารหนี้ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการที่ดี (Environmental, Social, and Governance) ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ด้วยศักยภาพและโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ESG Bond จึงเป็นทางเลือกที่ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าทางการเงิน แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
ESG Bond จึงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ออกโดยองค์กรหรือบริษัทที่มุ่งมั่นในการระดมทุน เพื่อนำไปใช้สนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีผลเชิงบวกต่อสังคม หรือมีธรรมาภิบาลที่ดี เช่น การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปรับปรุงมาตรฐานการทำงานและสวัสดิการของพนักงาน เป็นต้น
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานที่วิเคราะห์การลงทุนใน ESG อยู่หลายฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การลงทุนในบริษัทที่มีการคำนึงถึง ESG ไม่เพียงแต่เป็นโอกาสของการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นในงานวิจัยโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อปี 2566 พบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG สูงกว่ามักจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดี และมีประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีคะแนนต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทที่มีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถลดความเสี่ยงและความเสียหายจากการเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหรือการฟ้องร้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการประเมินว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ESG Bond ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตระดับประมาณร้อยละ 20-30 ต่อปี สำหรับในประเทศไทยที่มีการออก ESG bond เป็นครั้งแรกในปี 2562 นั้น จนกระทั่งถึงปี 2566 มูลค่าการออก ESG bond ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 23,000 ล้านบาท เป็น 179,866 ล้านบาท หรือเติบโต 8 เท่าในช่วงเวลาเพียง 5 ปี (ที่มาข้อมูล: บทความ “ESG bond ดีต่อโลก ดีต่อใจนักลงทุน” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability bond) เป็น ESG bond ที่มีมูลค่าการออกสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างกำลังเร่งระดมทุนเพื่อไปดำเนินโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนจะสามารถได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้านจากการลงทุนใน ESG Bond เช่น
อย่างไรก็ดี การลงทุนใน ESG Bond ก็มีความเสี่ยงด้านอื่นที่ไม่ต่างจากการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป เช่น ความเสี่ยงด้านเครดิตที่ผู้ออกตราสารอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าตราสารทางบัญชี หรือ ความเสี่ยงด้านนโยบายควบคุมที่มีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางกฎหมาย หรือการควบคุมที่จะส่งผลต่อความสามารถในการดำเนินงานของบริษัท
โดยตั้งแต่ปลายปี 2566 รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนที่ยั่งยืน จึงได้มีการเริ่มโครงการ กองทุน Thai ESG เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจยั่งยืนในประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการผลักดันทางด้านตลาดทุน โดยกองทุน Thai ESG มีจุดประสงค์ให้ประชาชน เกิดการออมเงินระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยการลดหย่อนภาษีที่เป็นข้อดึงดูดนักลงทุน
โดยทุกวันนี้ กองทุน Thai ESG มีครบทุกนโยบายการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นในหุ้น และ/หรือ ตราสารหนี้ ของบริษัทที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สังคม หรือมีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งกองทุนจะต้องลงทุนที่ไม่น้อยกว่า 80% ในตราสารที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สำหรับนักลงทุนที่ไม่ประสงค์จะแบกรับความเสี่ยงมาก การเลือกลงทุนกับกองทุน Thai ESG ที่มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างผลตอบแทนในวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และยังช่วยลดความเสี่ยงในพอร์ตของนักลงทุนได้ เมื่อเทียบกับการลงทุนในกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก
โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด