Worldwide Wealth by SCBAM : การปรับตัวของร้านอาหาร และ Trend Food Delivery

11 กันยายน 2562

         ถ้าพูดถึงชื่อ Food panda, Line Man หรือ Grab food ตอนนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้ให้บริการ Food Delivery ผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้มีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% ซึ่งเติบโตสูงกว่าธุรกิจร้านอาหารเองที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ต่อปี  การเติบโตของธุรกิจบริการจัดส่งอาหารสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่มีขนาดครัวเรือนที่เล็กลง พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกสบายและประหยัดเวลามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายดายมากขึ้น โดยผ่่านทางแอฟพลิเคชั่น แต่ก็ทำให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และมีการเปิดรับแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เชนร้านอาหาร ดังนั้น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับกระแสที่เกิดขึ้นนี้ เพราะสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงในขณะเดียวกัน

         ยกตัวอย่างเช่น M หรือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ประกอบการเชนร้านอาหารมาอย่างยาวนาน นอกจากจะเดินหน้าขยายสาขาร้านอาหารในเครือ อาทิ เอ็มเคสุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิแล้ว ยังมีแผนในการเปิดตัวร้าน เอ็มเค ฮาร์เวสต์ โดยเป็นร้านขายเครื่องดื่มและขนมหวาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับร้านอาหารในเครือของเอ็มเค และ ตั้งเป้าในการทำ Home delivery ของร้านเอ็มเคสุกี้และยาโยอิมากขึ้น โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยให้สั่งอาหารและจัดส่งได้รวดเร็วมากขึ้น

         MINT หรือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่มีร้านอาหารในเครือที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซสเลอร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง และร้านกาแฟเดอะคอฟฟี่คลับ มีการตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายผ่านช่องทาง Delivery ในปีนี้ถึง 50% ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากเดอะพิซซ่า คอมปะนี โดยในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน 1112Delivery เพื่อใช้ในการสั่งอาหารจากร้านอาหารในเครือไมเนอร์ โดยเริ่มให้บริการจัดส่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน โดยมีแผนขยายให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศภายในกลางปี 2562 และตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านรายภายในปี 2562 ด้วย

         แม้กระทั่ง ZEN หรือ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ก็มีการปรับตัวโดยเน้นการเพิ่มแบรนด์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจากแบรนด์อาหารญี่ปุ่น เห็นได้จากการเปิดตัว “เขียง” แบรนด์น้องใหม่ เจาะตลาดอาหารไทย Street Food ซึ่งเน้นยกระดับอาหารตามสั่งให้มีมาตรฐาน บุกตลาดในทำเลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน ออฟฟิศ หรือตามชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ยังรุกเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยมีการเปิดตัว Call center เพิ่มเติม เพื่อการสั่งอาหารจากร้านอาหารแบรนด์ ZEN โดยตรง เพิ่มขึ้นจากที่มีการให้บริการเดลิเวอรี่ ผ่าน Line Man และ Food Panda อยู่แล้ว

         นับว่ากระแสของ Food delivery เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ควรมองข้าม โดยต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนับวันก็จะมีผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น นอกจากจะต้องมีบริการการส่งที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังจำเป็นต้องมีจำนวนร้านอาหารหรือชนิดของอาหารที่หลากหลายบนแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นตัวช่วยดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้งานแอปพลิเคชันให้มากขึ้นด้วย เพราะนอกจากจะส่งผลต่อการใช้บริการของผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลต่อหุ้นของเจ้าของกิจการอีกด้วยนะครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​