Worldwide Wealth by SCBAM : Trade War วิกฤตหรือโอกาสของประเทศไทย

6 มิถุนายน 2561

          ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้หลายท่านคงหนีไม่พ้นประเด็นข่าวร้อนแรงที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาดู คือเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อนานาประเทศโดยเฉพาะกับประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ หมายตาไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าเป็นประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) มาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อนักลงทุนทั่วโลกถึงโอกาสที่จะเกิดสงครามทางการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ผลกระทบและความรุนแรงที่อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของนานาประเทศรวมถึงประเทศไทย

          เริ่มต้นจากสหรัฐฯ เปิดฉากมาตรการขึ้นภาษีสินค้าจำพวกต่างๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ต่อมาสหรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นโดยขึ้นภาษีร้อยละ 25 และ 10 กับสินค้าจำพวกเหล็ก และอลูมิเนียม  โดยล่าสุดสหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าจะตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 ต่อสินค้าส่งออกของจีนเป็นผลจากการที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมระบุรายการสินค้าเป้าหมายที่ทางสหรัฐฯ ตั้งใจจะเก็บภาษีจากประเทศจีน ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกล ดาวเทียม และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของจีนไปยังสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การออกมาประกาศถึงสินค้าเป้าหมายนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่าต้องการที่จะลดการขาดดุลการค้าระหว่างจีนจากที่เคยขาดดุลถึง 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เหลือเพียง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในหนึ่งเดือน ซึ่งหมายความว่าทางสหรัฐฯ ต้องการที่จะลดอัตราการขาดดุลการค้ากว่าร้อยละ 70 ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น 

          สำหรับประเทศจีนนั้นได้มีการโต้กลับมาตรการของสหรัฐฯ ด้วยการประกาศว่าจะเก็บภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าของสหรัฐฯ 128 ชนิด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยรายชื่อสินค้าที่จีนตั้งเป้าหมายนั้นล้วนเป็นสินค้าสำคัญที่สหรัฐฯ ส่งออกไปยังนานาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ ไวน์ ยา เหล็ก รถยนต์ และเครื่องบิน เป็นต้น  ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของจีน นายจู กวังเย่า ระบุว่ารายการสินค้าเป้าหมายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงกันระหว่างสองประเทศ อาจไม่มีผลบังคับใช้หากทุกฝ่ายเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมตั้งเงื่อนไขข้อตกลงต่างๆ อย่างมีเหตุผล

          ส่วนผลกระทบในแง่ลบที่อาจเกิดกับประเทศไทยจะเป็นส่วนของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปยังจีน หากเทียบมูลค่าที่ไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศจีนนั้นยังนับว่าไม่มากนักเพราะมีมูลค่าเพียงร้อยละ 2 (ที่มา : ข้อมูลการส่งออกไทยปี 2560) ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด หากประเทศจีนนำสินค้านำเข้าจากไทยไปส่งออกต่อยังสหรัฐฯ จะส่งผลให้สัดส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ถูกกระทบลดลงจากร้อยละ 2 เหลือเพียงร้อยละ 0.14 ของสัดส่วนสินค้าส่งออกไทยทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านลบที่คาดว่าจะไม่รุนแรงมากนัก หากมาตรการกีดกันทางการค้าไม่ได้ทวีความรุนแรงไปมากกว่าปัจจุบัน

          แม้ว่าการกีดกันทางการค้าจะดูคุกรุ่นและสร้างความกังวลให้กับตลาด แต่การกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นั้นอาจมีผลกระทบในแง่บวกต่อประเทศไทย หากประเทศจีนมีการตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจะส่งผลให้ประเทศจีนต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมากขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าที่นำเข้าน้อยลงไปจากประเทศสหรัฐฯ  ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปยังประเทศจีนได้มากขึ้น และหากพิจารณาถึงผลกระทบแง่บวกในระยะยาวอาจรวมไปถึงโอกาสที่ประเทศจีนจะย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศของตนไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสมจากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอุตสาหกรรมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์นี้ก็เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนาดังกล่าว หากเกิดการย้ายฐานการผลิตก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศเราในภาพรวม

          แม้ว่ามาตรการล่าสุดที่ประกาศออกมาจะไม่กระทบต่อประเทศไทยมากนัก อีกทั้งยังได้ประโยชน์บางประการ อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวซึ่งถูกจุดฉนวนขึ้นโดยสหรัฐฯตั้งแต่ต้นปี 2561 นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทั่วโลกยังคงต้องจับตาและพิจารณาถึงผลกระทบต่อประเทศของตนเองต่อไป

          สำหรับมุมมองต่อภาวะการลงทุน ผมมองว่าเป็นความกังวลระยะสั้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นได้ แต่จะส่งผลทางบวกต่อตลาดตราสารหนี้เนื่องจากนักลงทุนอาจมีการลดน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงสูง และกลับมาเพิ่มน้ำหนักในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของท่านควรมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละประเทศจะมีการออกมาตรการใหม่ๆ เพิ่มหรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งโอกาสที่อาจจะผ่อนคลาย หรืออาจจะเพิ่มความตึงเครียดเพิ่มขึ้นได้เช่นกันครับ

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย​
        กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​