Worldwide Wealth by SCBAM : มอง 2 มุม..โอกาสและความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

6 มีนาคม 2567

            เริ่มต้นปี 2567 มาแล้วกว่า 2 เดือน บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นโลกค่อนข้างคึกคักและมีสีสัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ที่ยังคงมีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี Stoxx 600 ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ฝ่าความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และสุดท้าย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei 225 ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดทศวรรษที่สูญหายหรือ Lost Decade และตลาดหุ้นใหญ่ อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 ที่ทำนิวไฮขึ้นมาแตะระดับ 5,000 จุด เอาชนะจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งหลังจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกัน

 

3 แรงขับเคลื่อนหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า

            อย่างแรกเลย คือ (1) โอกาสการเกิด Soft Landing หลังจากที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งตลาดแรงงานและภาคการบริการ ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะมีโอกาสเกิด Soft Landing หรือหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อีกครั้ง ซึ่งล่าสุด โมเดล GDPNow ของ Fed สาขา Atlanta คาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 1/2567 ไว้ค่อนข้างสูงราว 3.0% (ณ วันที่ 29 ก.พ. 67) ในขณะที่โบรคเกอร์ต่างชาติหลายแห่ง เริ่มปรับเป้าหมายของดัชนี S&P500 ตั้งแต่ต้นปี โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลคล้ายๆ กัน คือ มีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน ถัดมาคือ (2) นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง เมื่อวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นถึงจุดสิ้นสุด และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณเตรียมปรับดอกเบี้ยลงในปีนี้ ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี Fed ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อเดือน ม.ค. 67 ว่าไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดดอกเบี้ย ทำให้มุมมองของตลาดล่าสุด ผ่าน CME FedWatch Tool ปรับลดจำนวนครั้งของการลดดอกเบี้ยในปี 2567 จากเดิม 6 ครั้ง เหลือประมาณ 3-4 ครั้ง ซึ่งปรับลงมาใกล้เคียงกับ Dot Plot ของ Fed ที่ให้ไว้เมื่อเดือน ธ.ค.2566 ดังนั้น สำหรับการประชุม Fed ในเดือน มี.ค. นี้ จะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นการเปิดเผย Dot Plot รอบใหม่ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพแนวทางการลดดอกเบี้ยมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงอาจเริ่มพูดคุยถึงการลดอัตราเร็วในการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (Quantitative Tightening หรือ QT) ด้วย แรงขับเคลื่อนสุดท้าย คือ (3) ผลประกอบการและกระแส AI หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หรือ Big Tech ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มนางฟ้าหรือ MAG7 ที่มีความโดดเด่นอย่างมากในปีที่ผ่านมาและยังคงอยู่ค้างฟ้าในปีนี้ แม้ว่าสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งได้แก่ Microsoft, Apple, Google, Amazon, Meta (หรือ Facebook เดิม), Nvidia และ Tesla มีราคาหุ้นที่อาจจะไม่ได้ขึ้นแรงเท่ากันทุกตัว แต่ก็สามารถทำผลงานอย่างโดดเด่นและมีพลังมากพอที่จะขับเคลื่อนบรรยากาศการลงทุนของตลาดโดยรวมได้ โดยเฉพาะ Nvidia ที่ถือว่า เป็นผู้จุดกระแส AI Boom ในรอบนี้ ที่ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด ยังคงเติบโตได้ดีกว่าคาดการณ์ของตลาด ทำให้ธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุน

            แม้ปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดูค่อนข้างสดใส แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงซ่อนอยู่และอาจทำให้มีความผันผวนอยู่บ้าง นั่นคือ การเกิดขึ้นแรงขายทำกำไรระยะสั้นหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลรายงานผลประกอบการ (Earnings Season) เพราะดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นมามากถึง 24% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นปีนี้ก็ยังบวกขึ้นมาอีกประมาณ 6.3% (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 67) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดมีลักษณะกระจุกตัวคล้ายกับปีก่อน นั่นคือ หุ้นกลุ่ม Big Tech ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าค่อนข้างมากในดัชนีตลาดหุ้น อีกทั้งเป็นกลุ่มผู้นำตลาดที่อยู่บนความคาดหวังต่อการเติบโตสูง สะท้อนจากดัชนี S&P 500 Equal Weight ซึ่งให้น้ำหนักหุ้นแต่ละตัวในดัชนีเท่าๆ กัน บวกแค่ 2.5% ตั้งแต่ต้นปีนี้ (เทียบกับ S&P500 +6.3% YTD) ดังนั้น หากราคาหุ้น Big Tech มีการปรับตัวลงจากแรงขายทำกำไร หรือผิดหวังต่อผลประกอบการ ก็มีโอกาสที่จะดึงให้ดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมผันผวนตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหรือ VIX Index แกว่งตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำไม่เกิน 20 จุด สะท้อนถึงความผันผวนที่ไม่ค่อยสูงนักและดูจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการลงทุน แต่หากมองในทางกลับกัน ด้วยระดับที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน จึงอาจทำให้มองได้ว่าโอกาสที่ VIX Index จะปรับตัวขึ้น น่าจะมีมากกว่าการปรับลง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะแกว่งตัวผันผวนมากขึ้นในระยะถัดไป

            ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะกลางถึงยาว แต่ก็ต้องยอมรับว่า สำหรับการลงทุนในระยะสั้น อาจมีความผันผวนหรือการพักตัวเกิดขึ้นระหว่างทางได้ ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการวางแผนการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถลงทุนกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กับ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดยมีให้เลือกลงทุนในหลายดัชนีหลัก เช่น ดัชนี S&P500 (กองทุน SCBS&P500), ดัชนี Dow Jones (กองทุน SCBDJI), ดัชนี Nasdaq 100 (กองทุน SCBNDQ) และ ดัชนี Russell 2000 (กองทุน SCBRS2000) ข้อดีของกองทุน Index Fund คือ ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยถูกกว่า Active Fund และนักลงทุนสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของราคาได้ไม่ยาก  

 

โดย  คุณณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด​