มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : โอกาสและความน่าสนใจในตลาดทุนไทยปี 2019

26 พฤศจิกายน 2561

        ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2018 เผชิญความผันผวนค่อนข้างมาก โดยตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ในเดือน ก.พ.ที่ระดับ 1,852 จุด สะท้อนมุมมองบวกที่ตลาดมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ สภาพคล่องในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ก่อนที่จะปรับตัวลงดต่ำสุดที่ระดับ 1,584 จุดในช่วงเดือน มิ.ย.สอดคล้องกับภาพตลาดการเงินทั่วโลกที่มีความปั่นป่วน บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของทิศทางการลงทุนทั่วโลก โดยแรงกดดันหลักในปีนี้ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความกังวลต่อสงครามการค้า (Trade war) ที่ยังคงยืดเยื้อ และยังคงลากยาวต่อไปจนกว่าทางการสหรัฐฯ จะได้ในสิ่งที่ตนหวังไว้ รวมถึงเรื่องของความผันผวนของค่าเงินในประเทศกลุ่ม Emerging Markets ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและฐานะทางการคลัง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นเร็ว กดดันต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน และกระตุ้นให้มีการโยกย้ายเม็ดเงินกลับเข้าสู่สินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้วกว่า 2.7 แสนล้านบาท ดังนั้นคำถามสำคัญที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ มุมมองโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปี 2019 ยังคงน่าสนใจลงทุนหรือไม่และควรลงทุนอย่างไร

        ผมมองว่าจากปัจจัยบวกภายในประเทศตลาดหุ้นไทยยังคงน่าสนใจลงทุนอยู่ ถึงแม้ว่าความผันผวนจากปัจจัยภายนอกยังมีแนวโน้มจะคงอยู่กับเราไปในปี 2019 ไม่ว่าจะเป็นผลของ Trade conflict ที่สหรัฐฯ เป็นคนเริ่ม และโอกาสที่การเจรจากับจีนจะไม่ราบรื่นอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวอยู่แล้วในปีหน้ายิ่งดูจะโตน้อยลงไปอีก รวมถึงผลการเลือกตั้ง mid-term ของสหรัฐฯ ที่พรรค Democrat ได้เสียงข้างมากในสภาล่างซึ่งทำให้การออกนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบฉาบฉวยของประธานธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำได้ยากขึ้น การต่อรองทางการเมืองหรือความพยายามเอาชนะที่แรงขึ้นอาจฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกได้  รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed การปรับตัวขึ้นของ Bond yield แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศหลักๆ ที่เข้มงวดขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่คอยกด P/E ของตลาดหุ้นให้ลดลงจากช่วงที่ทั่วโลกกำลังดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่ล้นระบบ

        แต่เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่ GDP ในปี 2018 คาดการณ์เติบโตได้สูงถึงร้อยละ 4.5 และเติบโตต่อเนื่องอีกร้อยละ 4 ในปี 2019 ซึ่งสวนทางกับการปรับประมาณการลงของ IMF ที่ลด World GDP growth จาก 3.9% สู่ 3.7% และสูงกว่าการเติบโตเฉลี่ยของไทยในอดีต โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักๆ มาจากความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. ถึง พ.ค. 2019 จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักขึ้นบ้าง และเรื่องของวัฏจักรการลงทุนขาขึ้น ซึ่งได้รับประโยชน์จากนโยบายการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการย้ายฐานการผลิตที่อาจเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 10% ในปี 2019 ภายหลังจากที่มีการอนุมัติงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ไปในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในที่สุดคาดว่าจะส่งผลบวกมายังการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศในส่วนของต่างจังหวัดที่ยังอ่อนแอได้ในที่สุด

 

 

        นอกจากนี้ ความมีสเถียรภาพของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของฐานะทางการคลังของประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 10% ของ GDP ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ หากกล่าวถึงในแง่ของ Valuation ที่ปัจจุบันปรับลงมาสู่ระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยแกว่งตัวบริเวณ 1,650 จุด คิดเป็นระดับ P/E ปี 2018 ที่ 15.3 เท่า และหากประเมินเป็นระดับ P/E ปี 2019 จะพบว่า SET Index ซื้อขายอยู่ในระดับประมาณ 14 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่ประมาณ 15 เท่า

        กล่าวโดยสรุป จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในปี 2019 ควรจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการขึ้นอยู่กับความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น กลุ่มพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยสนับสนุนที่สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ และมีแรงต้านทางต่อแรงกดดันภายนอกไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะเป็นแบบลมปะทะหน้า (Headwind) ต่อตลาดการเงินโลกในปี 2019 โดยความน่าสนใจของไทยยังคงเกี่ยวเนื่องกับการที่เศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวเข้าสู่ S-Curve ใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งมีแรงหนุนหลักจากการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ผสานกับความคาดหวังเชิงบวกจากการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2019

        จากปัจจัยสนับสนุนตามที่กล่าวมาข้างต้นจะส่งผลให้การลงทุนใน (1) กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้รับอานิสงค์จากนโยบายขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) รวมทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศทางเลือกอันดับต้นๆ ในการย้ายฐานการผลิต (Relocation) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง เป็นสินค้าที่มี Cluster ครบวงจรรวมทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) อยู่ในระดับสูงจนต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม (2) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้รับประโยชน์จากขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น (3) กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งเติบโตตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่มีความผันผวนของผลกำไรต่ำ (4) กลุ่มไฟแนนซ์ จากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่เติบโตดี (+20-30%) และ NPL ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และ (5) กลุ่มค้าปลีกและกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะฟื้นตัวจากปี 2018 และรวมทั้งมีลุ้นจะได้ประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ

        ในภาพรวมตามที่กล่างมาทั้งหมด ท่านนักลงทุนพอจะเห็นภาพชัดเจนแล้วนะครับว่าการลงทุนในปี 2019 นั้นยังมีความน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะตลาดบ้านเรานะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด