มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนอะไรในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

26 กรกฎาคม 2560

          นักลงทุนหลายท่านคงสงสัยว่า ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพนั้นเขาลงทุนอะไรกันบ้างและลงทุนกันอย่างไร แต่ที่แน่นอนคือนอกจากผู้จัดการกองทุนเหล่านี้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และจรรยาบรรณพื้นฐานของวิชาชีพผู้จัดการลงทุนแล้ว บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ จะตั้งกฎเกณฑ์ไว้ป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อมิให้ผู้จัดการกองทุนใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อการลงทุนส่วนตัวก่อนพิจารณาลงทุนสำหรับพอร์ตการลงทุนของบริษัทซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบลูกค้า ตัวอย่างกฎเกณฑ์เช่น พนักงานต้องเปิดเผยบัญชีลงทุนส่วนตัวรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องและลงนามยินยอมให้ฝ่ายตรวจสอบของบริษัทเข้าตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายได้ และพนักงานต้องขออนุญาตพร้อมทั้งรายงานผู้บังคับบัญชาก่อนการทำการซื้อหรือขายอย่างน้อย 5 วันทำการ เพื่อให้ฝ่ายควบคุมตรวจสอบได้ก่อนว่า พอร์ตของบริษัทกำลังมีการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่หรือไม่ และผู้ขออนุมัติได้ไปลงทุนตัดหน้าพอร์ตของบริษัทหรือไม่ รวมถึงการบังคับห้ามขายก่อนครบระยะเวลาขั้นต่ำ 1 เดือนเพื่อป้องกันการเก็งกำไรระยะสั้น และการบังคับห้ามซื้อห้ามขายในช่วงก่อนการประกาศจ่ายเงินปันผล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเก็งกำไรจากข้อมูลการจ่ายเงินปันผลที่อาจรู้ล่วงหน้าก่อนการประกาศ ดังนั้นผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จึงมักหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการขออนุมัติล่วงหน้า การถือครองตามระยะเวลาขั้นต่ำ และการายงานที่เคร่งครัด โดยหันมาเลือกลงทุนกับกองทุนรวมแทนการลงหลักทรัพย์รายตัวและมักเป็นการลงทุนระยะยาว ที่อย่างน้อยๆ ก็ต้องเกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด 

          แม้แต่ละคนอาจมีสไตล์การลงทุนที่ต่างกันตามช่วงอายุและความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล แต่มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือเมื่อผมเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผมก็ได้รับตำแหน่งประธานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทพ่วงมาอีกตำแหน่งด้วย เมื่อผมได้เห็นพอร์ตการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานในบริษัทที่เลือก ผมถึงกับตกใจว่ากว่า 75% ของพนักงานเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นล้วนๆ และพนักงานอีกเกือบ 20% เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุน ตัวเลขสัดส่วนการเลือกลงทุนดังกล่าวช่างแตกต่างกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัททั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขสัดส่วนการเลือกลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานบริษัททั่วๆ ไป เราจะพบว่ามีการลงทุนในตราสารทุนเพียง 10-20% เท่านั้น กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในหลายๆ บริษัท กลัวว่าพนักงานไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนจะเลือกไม่เป็น ไปเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นแล้วขาดทุน ไม่มีเงินใช้ยามเกษียณ อาจถึงขั้นกำหนดไม่ให้สมาชิกเลือกลงทุนหุ้นเกินกว่า 20% ด้วยซ้ำ

 

          ที่น่าประหลาดใจยิ่งคือทำไมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ และพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ด้านการลงทุนเป็นอย่างดี สอบได้ใบอนุญาตเรื่องการลงทุนที่ว่ายากๆ ทั้ง CFA, CISA, CFP, IC ต่างๆ กลับเลือกลงทุนในหุ้นล้วนๆ ทั้งที่เขาก็รู้ว่าการลงทุนในหุ้น 100% นั้นมีความเสี่ยงสูงสุด และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั่นมันก็คือเงินเกษียณของพวกเขา! แน่นอนครับพวกเขาทราบดีว่าการลงทุนให้ตราสารทุนหรือหุ้นนั้นมีความเสี่ยงและความผันผวนมากที่สุด ปีที่แย่ๆ อาจปรับตัวลดลงได้กว่า 30% แต่พวกเขาก็ทราบเช่นกันว่ามันไม่ได้แย่ทุกปี และในระยะยาวโดยเฉลี่ยแล้วการลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนสูงสุด หลายท่านก็คงเคยได้ยินแล้วว่าการลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวประมาณ 14-15% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้นั้นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวเพียง 3-4% ต่อปี ขอยํ้านะครับ..ผลตอบแทนเฉลี่ยก็แสดงว่าได้เฉลี่ยรวมปีที่แย่ๆ ไปแล้วด้วย! ขนาดรวมปีที่แย่ๆ แล้ว การลงทุนในหุ้นยังให้ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ถึง 10% ต่อปี 

          พอพูดถึงตรงนี้ ทั้งกรรมการและสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ ก็มักจะโต้แย้งว่าก็พวกผู้จัดการกองทุนรู้จักตลาดดี สามารถปรับพอร์ตได้ทันท่วงที สมาชิกกองทุนและพนักงานบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีเวลา ไม่รู้เรื่องการลงทุน เอาปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า ความเป็นจริงก็คือผู้จัดการกองทุนที่เลือกลงทุนในหุ้นล้วนๆ ก็ไม่ได้มาปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพวกเขามากไปกว่าสมาชิกลูกจ้างพนักงานบริษัททั่วไปเลย ในอดีตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจเปิดให้สมาชิกปรับพอร์ตได้ปีละครั้งหรือสองครั้งในช่วงเวลาที่นายทะเบียนกำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งผู้จัดการกองทุนก็จะไม่สามารถที่จะรู้ตลาดล่วงหน้านานๆ และการปรับพอร์ตต้องเปลี่ยนในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วเท่านั้น แม้แต่ในปัจจุบันที่ระบบนายทะเบียนก้าวหน้าไปมาก สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถใช้อินเตอร์เนตเข้าไปปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนเมื่อใดก็ได้ เราก็พบว่ามีสมาชิกเพียงส่วนน้อยที่เข้าไปปรับพอร์ตในแต่ละปี เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกที่เข้าไปปรับเปลี่ยนการลงทุนก็ไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นของบริษัททั่วไปหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

          สรุปก็คือ ผู้จัดการกองทุนเองนั้นก็ไม่ได้ปรับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพวกเขามากกว่าหรือถี่กว่าคนทั่วไปเลย แต่พวกเขาส่วนมากเลือกที่จะลงทุนในกองทุนหุ้นล้วนๆ เพราะพวกเขาจะทราบดีว่าผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวที่ได้จากการลงทุนในหุ้นนั้นสูงกว่ามากๆ และเขาก็ได้เห็นรุ่นพี่ที่เลือกลงทุนในกองทุนหุ้นและมีเงินเกษียณหลักสิบล้าน ในขณะที่ลูกค้าหรือสมาชิกของบริษัทลูกค้าที่ตำแหน่งและเงินเดือนใกล้เคียงกันแต่เลือกลงทุนแบบปลอดภัยไม่เสี่ยงมีเงินเกษียณเพียงหลักแสน เราก็คงได้เห็นตัวอย่างกันมาแล้วว่า เงินออมเดือนละ 10,000 บาท ลงทุนในตราสารทุนที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 14% ต่อปี ทบต้นไป 30 ปี จะมีเงินถึง 6.1 ล้าน แต่ถ้าเงินออมเดือนละ 10,000 บาทเหมือนกัน ลงทุนในตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี ทบต้นไป 30 ปี จะมีเงินเพียง 3.9 แสนเท่านั้น พอเห็นภาพอย่างนี้แล้ว ท่านจะพิจารณาลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดีครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด