มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ทางเลือกใหม่ของการประหยัดภาษีกับกองทุน Super Savings Fund (SSF)

25 ธันวาคม 2562

       เป็นที่ทราบกันแน่ชัดแล้วว่าในปี 2563 นี้จะมีการยกเลิกกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยจะมีกองทุนรวมเพื่อการออม Super Savings Fund หรือสั้นๆ ว่ากองทุน SSF มาแทนที่ โดยจะสามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 ซึ่งเหตุผลหลักที่เปลี่ยนเป็นกองทุน SSF เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีวินัยในการออมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะให้เริ่มต้นออมระยะยาวตั้งแต่เข้าสู่วัยทำงาน และรู้จักวางแผนการเงินเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางรายได้เมื่อพ้นวัยทำงาน เพราะกองทุน LTF ถูกตั้งมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อให้มีสภาพคล่องและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้น กองทุน LTF จึงเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งนักลงทุนบางท่านไม่สามารถรับความเสี่ยงหุ้นได้ แต่สำหรับกองทุน SSF จะสามารถเสนอทางเลือกการลงทุนเพื่อการออมระยะยาวได้มากขึ้น เพราะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ พร้อมทั้งมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายกว่ากองทุน LTF

       นอกจากนี้ กองทุน SSF ยังเป็นการสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่อาจเริ่มต้นทำงาน หรือผู้ที่มีฐานรายได้ไม่สูง ให้สามารถลงทุนเพื่อการออมระยะยาวได้มากขึ้น เพราะเงินลงทุนในกองทุน SSF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึงร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งขยายกรอบการลดหย่อนจากกองทุน LTF เดิมที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เพียงร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท

       สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long-Term Equity Fund) หรือ LTF ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีปี 2562 นั้น นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุน LTF ไปแล้ว ยังสามารถคงหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้จนครบตามกำหนด และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป หากต้องการลงทุนในกองทุน LTF ต่อไป ก็ยังสามารถลงทุนได้ โดยการลงทุนจะมีลักษณะเหมือนกองทุนรวมหุ้นทั่วไป สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการแต่จะไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป     

       ในส่วนของกองทุน SSF มีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง เรามาดูกันครับ

  1. สำหรับบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าซื้อหน่วยลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออกเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เช่น กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี
  2. ไม่กำหนดขั้นต่ำการลงทุน และไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี
  3. สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
  4. เงินได้จากการขายคืน จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากปฏิบัติตามเงื่อนไข
  5. กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้เราอาจจะมีกองทุนในการลงทุนที่หลากหลายและสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงแต่ละช่วงอายุของเราได้

       ช่วงต้นปีหน้าคงได้เริ่มเห็นแต่ละบลจ.ทยอยเปิดตัวกองทุน SSF ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน เรามาคอยติดตามกันต่อไปครับว่า กองทุน SSF จะมีความน่าสนใจและตอบโจทย์การส่งเสริมการออมได้มากน้อยเพียงใด แต่สำหรับผม การออมเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องสร้างวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด