มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ผลการเลือกตั้ง Midterm Elections จะส่งผลกระทบต่อการเมืองสหรัฐฯ อย่างไร

24 ธันวาคม 2561

        การเลือกตั้งมิดเทอมในสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นชัยชนะส่วนหนึ่งสำหรับพรรคเดโมแครต โดยถือเป็นการลงประชามติกลายๆของการบริหารงานของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และคณะ ซึ่งหากสังเกตให้ดีเราได้เรียนรู้อะไรพอสมควรจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเปราะบางของพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนฯ หรือจะเป็นเรื่องสัญญาณทางการเมืองเมื่อมองไปอีก 2 ปีข้างหน้าในปี 2020 โดยเฉพาะในวุฒิสภาและการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งซึ่งทรัมป์จะต้องลงสมัครเพื่อกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อีกครั้ง (ถ้ายังอยู่?)

        โดยประเด็นเรื่องนโนบายเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพซึ่งพรรครีพับลิกันและทรัมป์พยายามจะแก้ไขและยกเลิกแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในท้ายที่สุดกลับกลายเป็นนโยบายที่คนอเมริกันทั่วประเทศยังคงอยากให้มีและอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทรัมป์สูญเสียฐานเสียงในการเลือกตั้งที่ผ่านมา และเมื่อมองไปในอีกสองปีข้างหน้าซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น อาจเป็นการยากที่จะทำนายจากผลการเลือกตั้งในรอบนี้ เพราะเมื่อมองย้อนไปในอดีตในปี 2010 พรรครีพับลิกันก็กวาดชัยชนะในการเลือกตั้งมิดเทอมเช่นกันในขณะที่อีก 2 ปีต่อมาในปี 2012 นายบารัค โอบามาจากพรรคเดโมแครตก็กลับขึ้นมาได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นจึงยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลสำหรับทั้งสองพรรคในอีกสองปีข้างหน้านี้

        สัญญาณหนึ่งที่อาจจะยังทำให้พรรครีพับลิกันโล่งใจขึ้นได้บ้างก็คือ การรักษาเสียงข้างมากในวุฒิสภาเอาไว้ได้และได้จำนวนเสียงเพิ่มมากขึ้นอีก 2 เสียงจาก 51 เป็น 53 เสียงด้วย แม้ว่าการจะโหวตแบบsupermajority ซึ่งสามารถป้องกันการกระบวนการคัดค้านผ่านfilibuster ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องการอีก 7 เสียงเพื่อให้ถึง 60 เสียง ซึ่งก็ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครตอยู่ดี

        อย่างไรก็ตามการมีเสียงข้างมากในสภา (50 เสียงขึ้นไป) ก็สามารถตัดสินและชี้ขาดในหลายๆ อย่างได้ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง หรือการอำนาจใช้กฎหมาย Congressional Review Act ซึ่งให้อำนาจผู้มีเสียงข้างมากในวุฒิสภาในการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ และกฎหมายบางอย่างได้ เป็นต้น  ดังนั้นการมีเสียงข้างมากที่สูงขึ้นกว่าเดิมก็ทำให้พรรครีพับลิกันและทรัมป์สามารถวางใจไปได้เปราะหนึ่ง แม้ว่าในภาพใหญ่ พรรคเดโมแครตไม่น่าจะยอมให้เกิด Budget Reconciliation Bill ใหญ่ๆ ที่มาจากพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาที่โดยปราศจากอำนาจ filibuster ได้

        ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงการกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จากพรรครีพับริกันสู่พรรคเดโมแครตก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเราคงต้องจับตาการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งโฆษกสภาฯ คนใหม่ ซึ่งพรรคเดโมแครตก็น่าจะเสนอชื่อนาง แนนซี่ เปโลซี่ ในเร็วๆนี้ โดยงานที่ใหญ่ที่สุดของตำแหน่งโฆษกสภาฯ ก็คือการกำหนดวาระการประชุมของสภาผู้แทนฯ การตัดสินใจว่าจะนำเสนอกฎหมายและการแก้ไขใดๆ มาพิจารณาบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ตำแหน่งโฆษกสภาฯ ก็จะมีอิทธิพลต่อการเสนอชื่อประธาน และคณะกรรมการต่างๆ ในสภาผู้แทนฯอีกด้วย ในการทำงานของสภาคองเกรสในระยะหลังมานี้ กระบวนการนิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นในสภาผู้แทนฯก็มักจะเกิดขึ้นในออฟฟิศของโฆษกสภาฯ (พร้อมกับนักการเมืองอาวุโสและประธานวิป) พอกับเรื่องอื่นอยู่แล้ว ตำแหน่งโฆษกสภาฯ ใหม่นี้จึงนับว่าเป็นอีก political figure ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

 

         เมื่อหันมามองที่วุฒิสภา แม้ว่าจะไม่มีผู้นำอย่างเป็นทางการเพราะในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้ รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ เป็นประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ดังนั้นผู้ที่มีอำนาจกำหนดวาระและทิศทางของการประชุมโดยแท้จริง (de facto) จึงกลายเป็น Majority Leader (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งโดยนายมิช แมคคอนเนล: วุฒิสมาชิกจากรัฐอลาบามา) แม้ว่าตำแหน่ง Majority Leader อาจมีอำนาจที่ดูเหมือนจะจำกัดแต่ Majority Leader นี้ก็สามารถใช้อำนาจการกำหนดวาระและทิศทางของการประชุมนี้เพื่อสกัดกั้นวาระและการหารือในประเด็นที่คาดว่าพรรคจะเสียเปรียบออกไปได้เลย เป็นต้น

         ในเดือนธันวาคมนี้สภาคองเกรสใหม่จะยังไม่เริ่มต้นจนถึงต้นเดือนมกราคม 2562 ซึ่งจะเป็นช่วงที่สมาชิกสภาชุดใหม่จะทำพิธีสาบานตนเข้ามาอย่างเป็นทางการ ดังนั้นสภาคองเกรสในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่ง “Lame Duck session” ซึ่งจากอดีตส่วนใหญ่เรามักจะไม่ค่อยได้เห็นการตกลงในประเด็นสำคัญเกิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งในรอบนี้ก็เช่นกัน ดูเหมือนจะไม่มีฝ่ายใดอยากจะเจรจาในประเด็นที่ไม่สำคัญกันแล้ว

         ท้ายที่สุดนี้อีกหนึ่ง dynamic ที่ผมว่าน่าสนใจอย่างมากก็คือ มากกว่า 40 % ของสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภารอบใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ไม่เคยทำหน้าที่เป็นผู้กุมเสียงข้างมากในสภาเลย การทำงานทางการเมืองในลักษณะ Reactive หรือ passive มาโดยตลอดนั้นจึงต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะกลายมาเป็นผู้นำเสนอ และ active มากขึ้น ในขณะเดียวกัน สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายส่วนก็ไม่เคยทำหน้าที่เป็นเสียงส่วนน้อยในสภา เช่นกัน

         ก็น่าสนใจครับ นักลงทุนอย่างเราๆ คงต้องติดตามการบริหารงานของสภาคองเกรสชุดใหม่อย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์ถึงแนวโน้มที่การนำเสนอ การแก้ไข หรือการยกเลิกกฎหมายบางฉบับโดยสภาคองเกรสชุดใหม่นี้ จะกำหนดผู้ชนะและผู้แพ้ในธุรกิจได้อย่างไร แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ที่รู้ก่อน ย่อมได้เปรียบก่อนใครเสมอนะครับ....

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด