มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ทำความเข้าใจการลงทุนแบบ Absolute Return

24 กุมภาพันธ์ 2563

       ในโลกแห่งการลงทุน การเปรียบเทียบผลตอบแทนนั้นถือเป็นพฤติกรรมที่แทบจะเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐาน โดยเฉพาะกองทุนรวมที่มักใช้การเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนีอ้างอิงเพื่อแสดงศักยภาพในการบริหารการลงทุนที่ทำได้เหนือกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางกลุ่มอาจเห็นว่าการที่กองทุนชนะดัชนีอ้างอิงนั้น ยังให้ความมั่นใจกับนักลงทุนไม่เพียงพอว่าจะไม่ขาดทุนในช่วงตลาดขาลง โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ตลาดโดยรวมมีความผันผวนสูง ผมมีทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ เรียกว่า การลงทุนแบบ  Absolute Return

       การลงทุนแบบ Absolute Return คือ การลงทุนโดยมีเป้าหมายผลตอบแทนที่ชัดเจน เช่น กองทุนจะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในระยะเวลา 1 ปี ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร โดยที่ไม่มีดัชนีอ้างอิงมาชี้วัดการลงทุน กลยุทธ์ Absolute Return จึงมักจะมีค่าสหสัมพันธ์ต่อตลาดโดยรวมค่อนข้างต่ำ ต่างจากกลยุทธ์ทั่วไปที่มักสร้างผลตอบแทนและเปรียบเทียบตามดัชนีอ้างอิงหรือตลาดโดยรวม ลักษณะเฉพาะอีกอย่างของการลงทุนแบบ Absolute Return คือ การมุ่งเน้นการควบคุมระดับความผันผวนของพอร์ตให้คงที่อยู่ในระดับต่ำในทุกช่วงสภาวะตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนและความผันผวน

       กลยุทธ์ Absolute Return จึงเป็นการลงทุนที่ไม่มีข้อจำกัดในประเภทตราสาร และมักมีการใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทน กลยุทธ์ Absolute Return สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง โดยการใช้กลยุทธ์ Short หรือการขายหลักทรัพย์ โดยคาดว่ามูลค่าจะปรับลงในอนาคต ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ long หรือการซื้อหลักทรัพย์ โดยคาดว่ามูลค่าจะปรับขึ้นในอนาคต ไปพร้อมๆ กัน

       

       กระนั้นเอง การลงทุนในกองทุนที่ใช้กลยุทธ์ Absolute Return ก็ยังไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงโดยสิ้นเชิง โดยจะมีความเสี่ยงประเภทหลักๆ ดังนี้ 1) ความเสี่ยงของโมเดล (Model Risk) ซึ่งแม้โมเดลการลงทุนที่ได้รับการศึกษาและวิจัยมาแล้วอย่างดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องในอดีต แต่ก็ไม่สามารถรับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ 2) ความเสี่ยงของกลยุทธ์ Long/Short (Strategy Risk) ซึ่งด้วยพื้นฐานของการลงทุนทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขาย ทำให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดในช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือทำให้ราคาสินทรัพย์ในพอร์ตไม่เคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่คาดการณ์ไว้และก่อให้เกิดการขาดทุน และ 3) ความเสี่ยงในการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ซึ่งแม้จะเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น แต่ความเสี่ยงในการลงทุนในหมวดสินทรัพย์นี้ก็สูงกว่าหมวดสินทรัพย์อื่นค่อนข้างมากเช่นกัน

       กองทุน Absolute Return ยังคงเป็นทางเลือกที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดโลกมีความผันผวนสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด และต้องการได้รับผลตอบแทนที่เป็นตัวเลขชัดเจนตามเป้าหมายการลงทุนของกองทุน

       อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ Absolute Return ก็มีความซับซ้อนในกระบวนการลงทุน นักลงทุนจึงควรศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนแบบ Absolute Return และทำความเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ก่อนที่จะลงทุนนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด