มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing)

22 มกราคม 2563

       การลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Sustainable and Responsible Investing (SRI) อันประกอบไปด้วยการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและจริยธรรมที่ดี ตลอดจนถึงการกำกับดูแลกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อสร้างผลตอบแทนและผลลัพธ์เชิงบวกอย่างยั่งยืนในระยะยาว ในปัจจุบันรูปแบบการลงทุนที่มีการถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากและเป็นที่สนใจของนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนแบบ SRI คือ ESG Investing ซึ่งเป็นการลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental factors) สังคม (Social factors) และ ธรรมาภิบาล (Governance factors)

       ESG Investing มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา สังเกตได้จากจำนวนนักลงทุนสถาบันที่เพิ่มขึ้นทั้งไทยและต่างประเทศ (Pension Funds, Endowment Funds, Sovereign Funds and Asset Management Firms) ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการลงทุนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์สำหรับการลงทุน ได้แก่ Mutual Funds และ ETFs ตลอดจนถึงตัวเทียบวัดที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยที่ใช้ในการกำกับและคัดกรองหลักทรัพย์ที่ลงทุนซึ่งมีความเหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

       โดยทั่วไป ความเข้าใจส่วนใหญ่ของการลงทุนแบบ Sustainable and Responsible Investment (SRI) คือ การลงทุนเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่มีปัจจัยที่ดีทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ในอุตสาหกรรมการลงทุน การลงทุนแบบ SRI มีอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เป็นที่นิยมมีอยู่ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

       1) Best in Class หมายถึง การลงทุนที่คัดเลือกบริษัทที่มีแนวโน้มที่ดี ตามหลักเกณฑ์ SRI ในแต่ละขอบเขตการลงทุน (Class, Country, Sector) การลงทุนแบบนี้ใช้เกณฑ์วัดตามความเข้าใจทั่วไป เช่น ลงทุนเฉพาะหุ้น A และ B ที่มี SRI Rating หรือ Score มากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นต้น แต่เมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนแบบ SRI ทั้งหมดมีการลงทุนแบบ Best in Class มีเพียงแค่ 4% เท่านั้น เนื่องจาก SRI Rating/Score ยังไม่มีมาตรฐานแบบ Credit Rating ดังนั้นรูปแบบวิธีการคำนวณที่หลากหลายอาจส่งผลให้ได้เกณฑ์ SRI ที่แตกต่างกัน ตลอดจนถึงการลงทุนแบบ Best in Class อาจทำให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการกระจุกตัว (Concentration Risk) ได้ง่ายอีกด้วย

       2) Exclusion/Negative Screening หมายถึง การลงทุนที่คัดเลือกบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีแนวโน้มที่ไม่ดี ตามหลักเกณฑ์ SRI ออกจากขอบเขตของการลงทุน เพื่อที่จะลดและจำกัดความเสี่ยงของการลงทุน เช่น การไม่ลงทุนในบริษัท ที่ผู้บริหารระดับสูงกระทำการทุจริต หรือการไม่ลงทุนในบริษัทที่ปล่อยก๊าซพิษเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด และทำลายสิ่งแวดล้อม การลงทุนในรูปแบบนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มการลงทุนแบบ SRI โดยมีสัดส่วนมากถึง 35% 

       3) Norms-based Screening หมายถึง การลงทุนที่คัดเลือกบริษัทและขอบเขตของการลงทุน โดยใช้ตามหลักสากล (International Standard) เช่น ตามหลักการของ UN Global Compact, Human Rights หรือ Labor Standard เป็นต้น รูปแบบการลงทุนแบบนี้คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการลงทุนแบบ SR

       4) Integration หมายถึง การลงทุนที่นำเอา SRI มาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกลงทุนควบคู่กับการลงทุนแบบ Fundamental ที่มาจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทและสภาวะทางเศรษฐกิจ การลงทุนแบบ Integration นั้นเหมาะสมกับการลงทุนแบบเชิงปริมาณ (Quantitative Investment) และเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากตัวเทียบวัดที่เป็น SRI ยังไม่ครอบคลุมในทุก Asset Classes หากผู้จัดการลงทุนมีเป้าหมายเพื่อจะชนะตัวเทียบวัดแบบเดิม ก็จะนำรูปแบบวิธี SRI Integration มาประยุกต์สร้างพอร์ตการลงทุนที่มี SRI Score ที่สูงและดีกว่า SRI Score ของตัวเทียบวัดแบบเดิมๆ การลงทุนแบบ Integration มีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 32% ของการลงทุนแบบ SRI

       ซึ่งจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าแนวทางการลงทุนแบบ SRI สามารถเป็นทางเลือกการลงทุนอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การสร้างผลตอบแทนการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ได้เพิ่มความรับผิดชอบในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาลควบคู่ไปกับการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งที่ยั่งยืนอีกด้วยนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด