มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : Thailand 4.0 ต้องเริ่มที่คนและความสนใจ

17 กรกฎาคม 2561

        ช่วงวันที่ 20 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมตั้งใจไปชมงานแสดงเครื่องจักรอุตสาหกรรมหรือ Manufacturing Expo ที่ ไบเทคบางนา ที่ผู้จัดได้นำหุ่นยนต์อัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์พูดได้ที่ชื่อ โซเฟียมาแสดงในงานให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าไปพูดคุยโต้ตอบกันไปมาได้ แต่ปรากฏว่าวันนั้นท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมาเปิดงานและกล่าวปาฐกถา ผู้จัดเลยเอาหุ่นยนต์ขึ้นไปบนเวที ผมเลยไม่ได้มีโอกาสทดสอบความก้าวหน้าของโซเฟีย ซึ่งผมได้เคยคุยด้วยมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ไหนๆ มาแล้วก็เลยเดินเข้าไปชมงานนิทรรศการที่ได้รวบรวมบริษัทต่างๆ มากมายมาแสดงเทคโนโลยี ตั้งแต่หุ่นยนต์เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ รวมไปจนถึงการหล่อ การประกอบ การพ่นสี การคัดเลือก การตรวจสอบและการควบคุมคุณภาพ

        แม้ผมเองเรียนจบวิศวะอุตสาหการ ที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตโดยตรง เคยไปชมโรงงานต่างๆ มาก็มาก ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตนั้นก้าวหน้าไปมาก แขนกลรุ่นใหม่ๆ นั้นสามารถจับและจัดเรียงชิ้นงานหรือสินค้าในสายการผลิตได้อย่างยอดเยี่ยมรวดเร็ว และก้าวข้ามข้อจำกัดแบบเดิมๆ ที่เครื่องจักรรุ่นเก่ามี เช่น การที่ชิ้นงานหรือสินค้าต้องวางอย่างเป็นระเบียบไม่เช่นนั้นแขนกลจะจับไม่ได้ หรือข้อจำกัดที่ชิ้นงานต้องเป็นเหลี่ยม และการทำงานทีละด้านเพราะหุ่นยนต์สามารถทำงานกับของที่แบนๆ เป็น 2 มิติ การทำงานของหุ่นยนต์แขนกลรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น สามารถจัดการกับชิ้นงานที่เป็น 3 มิติได้อย่างสบาย ทั้งของที่โค้งเว้า หรือวัสดุที่นิ่มยืดหยุ่น ไม่จำกัดเพียงแต่ของแข็งแบบเดิม เห็นแล้วน่าทึ่งมาก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนถึงเริ่มกลัวว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนแรงงานคนในการผลิตต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ แถมทั้งหมดนี่ก็มารวมอยู่ในงานเดียว ไม่ต้องเดินทางไปดูที่ประเทศต่างๆ ซึ่งคงต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นครบแบบนี้

 

 

        หลังจากที่เดินดูเครื่องจักรกลหุ่นยนต์เทคโนโลยีการผลิตรุ่นใหม่ทันสมัยจนเพลิน ก็สังเกตว่าบริษัทที่มาออกบูทแสดงสินค้าหลายร้อยบูทนั้น มาจากจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ และยุโรป แทบไม่มีของไทยเลย ภาครัฐของสิงคโปร์ดูจะผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อย่างจริงจังมาก เขาเช่าพื้นที่ให้บริษัทสิงคโปร์อยู่ติดกัน ทุกบูทของบริษัทสิงคโปร์จะมีป้ายขนาดใหญ่ลายธงชาติคาด ด้านบนเขียนชื่อประเทศของเขาด้วยความภาคภูมิใจ เจ้าหน้าที่ประจำบูทของบริษัทจีนนี่ก็มาเชิงรุกหนักมาก ออกมาเชิญชวนให้ผู้เข้าชมงานไปดูนวัตกรรมของตนอย่างคึกคักกว่าบูทของญี่ปุ่นหรือฝรั่งที่นั่งรอให้ผู้ชมเดินเข้าไปหาก่อน

        เมื่อสังเกตผู้ที่เข้ามาชมงานก็จะเฉลียวใจว่ามีคนไทยค่อนข้างน้อย ไม่เหมือนงานเทศกาลอาหาร เสื้อผ้าสินค้า ของชำร่วย หรือแม้แต่งานแสดงเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านงานอื่นๆ ที่ผมเคยไปมา ที่เห็นกลับเป็นวิศวกร หัวหน้าช่าง ชาวญี่ปุ่น ชาวจีน และฝรั่ง ที่คาดว่าทำงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาชม สนใจซักถามดูการสาธิตเครื่องจักรแขนกลรุ่นใหม่อย่างตั้งใจ เห็นอย่างนี้แล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ว่างานดีระดับนี้แต่กลับมีคนไทยสนใจน้อย ยิ่งเมื่อมาได้ยินน้องที่เป็นโปรแกรมเมอร์มือดีเล่าให้ฟังว่าหาเดี๋ยวนี้หาคนโปรแกรมเก่งๆ ยากเหลือเกิน ที่จบสายคอมพิวเตอร์มา พอเอาจริงทำได้แค่ application support หรือ system integration ที่จะให้มานั่งพัฒนากันจริงจังนี้หายาก ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่ายุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ที่มีการเน้นอุตสาหกรรม automation, robotics, aerospace และ digital เราจะมีวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้จริงหรือ เพราะการแข่งขันในยุคถัดไปคงไม่ใช่เป็นเพียงการที่เราไปซื้อเทคโนโลยีแล้วแค่มาตั้งโรงงานผลิตในเมืองไทยเพราะกำแพงภาษีและค่าแรงที่ถูกกว่า เช่นที่เคยทำมาในยุค 1980s - 1990s

        การเร่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประเทศต้องรีบลงทุน มิเช่นนั้นเราอาจจะตกกระบวนรถไฟการพัฒนาในยุค 4.0 นะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด