Money DIY 4.0 by SCBAM : โอกาสการลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain

16 กันยายน 2564

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเริ่มได้ยินคนพูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) กันมากขึ้น อาจด้วยสาเหตุหลักจากกระแสการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ที่ให้ผลตอบแทนอันงดงามแก่นักลงทุนได้เป็นจำนวนมาก และได้เกิดสาขาอาชีพใหม่ที่เราไม่อาจสามารถจินตนาการได้เมื่อสิบปีก่อนว่าจะมีอาชีพอย่างนักขุดเหมืองบิตคอยน์ในโลกของเรา หลายท่านอาจจะสับสนว่า Blockchain คือ Cryptocurrency แต่แท้จริงแล้ว Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Cryptocurrency และสามารถที่จะประยุกต์ใช้งานได้กับอีกหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ Cryptocurrency เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

          Blockchain นวัตกรรมที่จะมา Disrupt อุตสาหกรรมการเงินโลก โดยในยุคที่อินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทต่อทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต ผู้คนสามารถใช้อินเตอร์เน็ตส่งข้อมูลหากันได้อย่างง่ายดาย เราสามารถส่งทั้งข้อความ รูปภาพ และเสียง ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด อย่างไรก็ตาม การส่งถ่ายมูลค่า (Value) ให้แก่กันยังไม่สามารถทำได้อย่างโปร่งใสนัก หากปราศจากสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้มีขั้นตอนและกระบวนการที่มากขึ้นเพื่อแลกกับความปลอดภัย

          เทคโนโลยี Blockchain จึงเป็นอินเตอร์เน็ตในรูปแบบใหม่ โดยเริ่มแรกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เช่น Bitcoin โดยสามารถที่จะส่งผ่านมูลค่า โดยไม่ต้องผ่านเทคโนโลยีของตัวกลางดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไป

Blockchain คืออะไร?

          เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้อ่าน คำจำกัดความของ Blockchain โดยย่อคือ “จัดเก็บข้อมูล กระจายศูนย์ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” โดยคำจัดกัดความเต็มนั้น ทาง Techsauce บริษัทสื่อด้านเทคโนโลยีและธุรกิจได้ให้ความหมายของ Blockchain ไว้ว่า “Blockchain เป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction ของแต่ละคนสามารถส่งต่อไปยังคนอื่นที่อยู่ในระบบได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ Block ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุกคน โดยที่ทราบว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในข้อมูลนั้นจริง ๆ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการใช้งาน Blockchain ที่เราคุ้นเคยกันนั้นจะเป็นการใช้งานในธุรกรรมการเงินเป็นหลัก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการความปลอดภัยสูงและสามารถตรวจสอบได้

          Blockchain ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมการเงินเท่านั้น แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมอื่นได้นำศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ประโยชน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จากการสำรวจโดย 451 Alliance บริษัทชั้นนำด้านวิจัยเทคโนโลยีในเครือ S&P Global ได้ทำแบบสำรวจเพื่อประเมินว่าอุตสาหกรรมใดเริ่มมีการใช้งานเทคโนโลยี Blockchain แล้วบ้าง ผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมการเงินนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยธุรกิจการดูแลสุขภาพ ภาคการผลิต การศึกษา รวมถึงภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็เริ่มเตรียมความพร้อมในการนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้กันแล้ว โดยตัวอย่างการนำ Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น มีดังนี้

       

          การใช้ Blockchain กับอุตสาหกรรมอาหาร (Food Supply Chain) ในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจกับการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทางผู้ผลิตและผู้จำหน่ายก็ต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้านี้ โดยข้อมูลจาก Depa ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทอุตสาหกรรมอาหารและซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น Walmart, Nestle, Carrefour และ Starbucks ได้เริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับ Food Supply Chain Management ของตัวเองในการเชื่อมโยงกระบวนการการผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้แปรรูปขั้นต้น ผู้แปรรูปขั้นสุดท้าย การขนส่ง ผู้ค้าปลีก ไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคหรือบริษัทสามารถติดตามการผลิตได้ตั้งแต่โรงงานการผลิต ที่ตั้งของคลังสินค้า ตลอดจนสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำได้อีกด้วย

          Blockchain กับการใช้งานด้านบริการธุรกรรมระหว่างประเทศ (Trade Finance) ปัจจุบันการขนส่งสินค้าทางทะเลในแต่ละครั้งจะต้องใช้เอกสารฉบับจริงเฉลี่ย 36 ฉบับ และฉบับสําเนาอีก 240 ฉบับ โดยเทคโนโลยี Blockchain จะทําให้เอกสารที่ต้องใช้เหลือเพียงไม่กี่ฉบับ (ข้อมูลจาก EXIM) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารจาก 1-2 สัปดาห์ เหลือเพียง 24 ชั่วโมง และช่วยลดต้นทุนการทําธุรกรรม Trade Finance ลง 35% (ข้อมูลจาก Bain & Company and HSBC) โดยปัจจุบันองค์กรและสถาบันการเงินชั้นนำกว่า 200 รายทั่วโลกเริ่มนำ Blockchain มาใช้งานด้าน Trade Finance เช่น Citibank, J.P. Morgan, Barclays, HSBC, Deutsche Bank, Mizuho, Daiwa, Ping An Group, Credit Union เป็นต้น

          Blockchain กับการใช้งานด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ทาง Forbes Thailand ระบุว่า Health Blockchain เป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพรูปแบบหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดเก็บข้อมูลทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัย (Security) ป้องกันการแก้ไขหรือโจรกรรมข้อมูล โดยที่ข้อมูลสามารถจัดเก็บไว้ได้นานขึ้นและเรียกดูข้อมูลได้แบบทันที (Real time) โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

          Taipei Medical University Hospital ผู้บุกเบิกระบบปฏิบัติการ phrOS ที่แรกของโลก ได้ใช้ Blockchain เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญด้านสุขภาพ เช่น การถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคนไข้ ที่คนไข้สามารถเข้าถึงประวัติสุขภาพตัวเองได้ ในขณะที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเองสามารถขออนุญาตและส่งข้อมูลผู้ป่วยผ่านสัญญาดิจิทัลได้เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้มีคลินิกหลาย 100 แห่งแล้วที่เข้าร่วม (ข้อมูจาก LDAworld)

          Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพการเติบโตได้อีกมากในอนาคต สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่จำกัดเพียงอุตสาหกรรมการเงินหรือฟินเทคเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าบริษัทระดับโลกในหลากหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มนำหรือมีแผนที่จะนำ Blockchain มาใช้งานในธุรกิจแล้ว ดังนั้นการลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain จึงเป็นธีมการลงทุนที่โดดเด่นและน่าสนใจอย่างมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกการลงทุนที่นักลงทุนควรจะมีติดพอร์ตเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด