มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ลงทุนในกองตราสารหนี้ ผลตอบแทนติดลบได้ใหม?

11 พฤษภาคม 2560

          เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้มีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาหนึ่งให้กับลูกค้า หลังจากบรรยายเสร็จมีลูกค้าท่านหนึ่งถามว่าทำไมกองตราสารหนี้ที่ลงทุนไว้ถึงขาดทุนติดลบได้มากถึงเกือบ 20% จากการสอบถามเพิ่มเติมก็ทราบว่า ลูกค้าท่านนั้นได้ลงทุนกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ Emerging Market Bond Fund  ลูกค้าเข้าใจว่าตราสารหนี้ให้ดอกเบี้ยสูงและไม่น่าจะติดลบ แต่ที่จริงแล้วตราสารหนี้ต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงอยู่หลายประการ จึงอยากมาเล่าสู่กันฟัง

          ความเสี่ยงอันแรกเลยของการลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ ความเสี่ยงทางด้านเครดิต หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่ากองทุนหลักในต่างประเทศที่เราไปลงทุนนั้น จะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ หรือ investment grade และในช่วงเวลาที่ลงทุนนั้นก็ไม่ได้มีตราสารใดที่ไปลงทุนเกิดการผิดนัดชำระหนี้เลย แต่หากผู้ออกตราสารถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง อย่างที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เช่น บราซิล รัสเซีย ตุรกี มูลค่าของตราสารหนี้ที่เราไปลงทุนนั้นอาจถูกนักลงทุนเทขายทำให้ด้อยมูลค่าลง

          “ความเสี่ยงทางด้านเครดิตนี้หากเป็นขั้นรุนแรงถึงขั้นเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็อาจทำให้ตราสารด้อยค่าลงอย่างแรงได้ อย่างที่เพิ่งเกิดกับตั๋ว B/E ของบางบริษัท ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นต้น”

          ความเสี่ยงประการที่สองของการลงทุนในตราสารหนี้ก็คือ ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย พูดง่ายๆ ก็คือ หากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตราสารหนี้เดิมที่เรามีที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าก็จะลดมูลค่าลงไปด้วย  ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น เมื่อวานเราลงทุนพันธบัตร 5 ปีที่ให้ดอกเบี้ย 3% หากวันรุ่งขึ้นธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีตัวใหม่ที่ออกขายให้ดอกเบี้ย 4%  คือสูงกว่าตัวที่เราเพิ่งซื้อไปเมื่อวาน 1%  พันธบัตรที่เราซื้อไปเมื่อวานก็ไม่มีใครอยากได้เพราะให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ถ้าเราอยากจะขายพันธบัตรนั้นเราก็ต้องลดราคาลงเพื่อชดเชยกับส่วนต่างของดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อ ฉะนั้นยิ่งอายุของตราสารยาวเท่าไร ราคาก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้นด้วย

          ส่วนความเสี่ยงที่สามของตราสารหนี้ต่างประเทศก็คือ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีความซับซ้อนเพราะอัตราแลกเปลี่ยนมีหลากหลายสกุลเงิน ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหลักในต่างประเทศไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศตุรกีที่เป็นสกุลเงินลีร่า แม้ว่าเขาจะมีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตาม การป้องกันความเสี่ยงนั้นก็มีค่าใช้จ่าย ในบางสกุลเงินนั้นค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยงอาจแพงคิดเป็นหลายเปอร์เซนต์ต่อปีเลยทีเดียว และเมื่อกองทุนที่อยู่ในเมืองไทยเป็นสกุลเงินบาทก็อาจถูกกระทบโดยค่าเงินดอลลาร์-บาทที่ผันผวนได้อีก 

          พออธิบายมาถึงตรงนี้นักลงทุนบางท่านอาจบอกว่าตราสารหนี้ไม่ดีเลย มีแต่ความเสี่ยงไม่น่าลงทุน อย่าลืมนะครับ เหรียญยังมีสองด้านขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองด้านไหน ความเสี่ยงนั้นในทางกลับกัน ก็คือโอกาสในการสร้างกำไรได้ด้วย เพราะหากตราสารหนี้ได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นหรือดอกเบี้ยปรับตัวลดลง หรือแม้แต่เงินสกุลต่างประเทศแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท เราก็มีโอกาสได้กำไรเพิ่มเช่นเดียวกันครับ ก่อนลงทุนเราก็ควรศึกษาหาความรู้ความเข้าใจให้ดีว่าอะไรเป็นปัจจัยหลักๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ที่เราลงทุน ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนนะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด