Money DIY 4.0 by SCBAM : ความสำคัญของข้อมูลต่อตลาดหุ้น ในภาวะวิกฤติ COVID-19

10 สิงหาคม 2563

       “ข้อมูล” คือ วัตถุดิบชั้นเลิศที่ช่วยให้เราวิเคราะห์ค้นหาความจริงเพื่อช่วยให้ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุและผลมากยิ่งขึ้น การลงทุนในตลาดหุ้นก็เช่นกันเราจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงจากข้อมูลในแง่มุมต่างๆ ให้มากเท่าที่จะหาได้ หากย้อนกลับไปในอดีตช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แค่เพียงการเข้าถึงข้อมูลงบการเงินของบริษัทในตลาดหุ้น เช่น ค่ากระแสเงินสด หรือสัดส่วนง่ายๆ เช่น ROA หรือ P/E Ratio ก็อาจสร้างข้อได้เปรียบในการลงทุนได้มากแล้ว แต่ในปัจจุบันข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อมูลที่นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ราคาหุ้นในตลาดเองก็มีแนวโน้มจะเคลื่อนไปในทิศทางที่ลดความได้เปรียบอันเกิดจากการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ จึงจำเป็นที่เราต้องหาข้อมูลแบบใหม่เพื่อช่วยในการตัดสินใจ

       มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมาก (Empirical Studies) ที่บ่งชี้ว่า การลงทุนโดยอาศัยเพียงข้อมูลจากปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) อาจจะเอาชนะตลาดได้ยากมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มของอุตสาหกรรมการลงทุนในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) เช่น ข้อมูลที่ประมวลผลจากข้อความในข่าว ความเห็นของผู้คนบน Social Media คำวิจารณ์จากสื่อ บทวิเคราะห์หุ้น หรือแม้กระทั่งข้อความที่ถอดมาจากเสียงบรรยายจากนักวิเคราะห์สำนักต่างๆ เป็นต้น เมื่อเครื่องมือด้าน AI ที่สามารถสกัดเอาชื่อหุ้นที่อาจเกี่ยวข้องกับเนื้อหาข้อความนั้นได้ รวมไปถึงโทนของข้อความ (Sentiment) ว่าเป็นบวกหรือลบโดยดูจากการใช้คำในข้อความนั้นๆ เราก็จะสามารถประเมินได้ว่าหุ้นแต่ละตัว น่าจะมีทิศทางเป็นบวกหรือลบมากน้อยเพียงใดได้

       นอกจากการประเมินทิศทางความเป็นบวกลบของข้อความแล้ว ยังมีลักษณะงานอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า การคาดการณ์ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแบบตรงเวลา (Macro Economics Nowcasting) ยกตัวอย่างเช่น การวัดการเติบโตทางเศรฐกิจ โดยปกติแล้วมีการวัดจากการเติบโตของ GDP อย่างไรก็ตาม การประกาศตัวเลข GDP จะใช้เวลา 1-2 เดือนหลังจบไตรมาสซึ่งช้าเกินไป ทำให้นักวิเคราะห์ไม่สามารถรับรู้การเติบโตทางเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นๆ ได้ แต่ด้วยเทคนิคการทำ Nowcasting เราสามารถใช้ข้อมูลข่าว หรือภาพถ่ายดาวเทียมของเส้นทางเดินเรือส่งสินค้า ทำให้ได้ค่าประมาณของ GDP เพื่อประเมินภาวะของเศรษฐกิจได้ทันที

       

       สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโคโรนาไวรัสในปัจจุบัน ส่งผลให้นักลงทุนต้องมีการปรับตัวมากขึ้นเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ มีการศึกษาของ Harvard Medical School พบว่าโคโรนาไวรัสอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2019 (ผู้ป่วยรายแรกเกิดขึ้นกลางเดือนธันวาคม ปี 2019) จากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมนับปริมาณรถยนต์ที่จอดในพื้นที่โรงพยาบาลอู่ฮั่นในเดือนตุลาคม พบว่าปี 2019 มีปริมาณรถยนต์มาจอดในพื้นที่เดียวกันเพิ่มมากขึ้น 67% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า และมีปริมาณการจราจรหนาแน่นเพิ่มขึ้นถึง 90% ด้วยเช่นกัน รวมกับข้อมูลจากการค้นหาจาก search engine ที่ชื่อว่า Baidu ที่มีคำว่า ‘diarrhea’ และ ‘cough’ มีปริมาณมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาการร่วมที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งสิ้น อีกตัวอย่างข้อมูลทางเลือกที่สามารถนำมาประมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการปิดเมือง เช่น  Apple Mobilities หรือ Google Mobilities ซึ่งเป็นข้อมูลปริมาณการค้นหาตำแหน่งในแผนที่ของ Apple และ Google ข้อมูลการจองหรือยกเลิกการจองโต๊ะจากแอพพลิเคชั่นจองโต๊ะอาหาร ข้อมูลการจองตั๋วเครื่องบิน ปริมาณการค้นหาคำว่า “โควิด” จาก Google Trend และอื่นๆ ซึ่งล้วนช่วยประมาณสถานการณ์ของโรคระบาดว่ามีทิศทางดีขึ้นหรือแย่ลงได้

       

       ตัวอย่างข้อมูลจาก Google Mobilities และ Apple Mobilities ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. - 17 ก.ค. 2020 เมื่อเทียบกับดัชนี SET Index  พบว่าปริมาณการค้นหาเส้นทางการเดินทางในช่วงเริ่มสถานการณ์โควิดลดลงมากกว่า 60% และเห็นได้ชัดว่าสอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาเช่นกัน จนตั้งแต่เดือนเม.ย.ป็นต้นมาเมื่อค่า Mobilities เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นก็ปรับตัวสอดรับพร้อมกันไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าค่า Mobilities มีความสัมพันธ์สะท้อนปริมาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนว่าตลาดหุ้นควรปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน

       ที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างที่ให้พอเห็นว่าเราจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางเลือกเหล่านี้ในการลงทุนได้อย่างไร ข้อมูลเหล่านี้บางส่วนสามารถหามาได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่บางส่วนก็ยากที่จะเก็บมาได้ จึงมีบริษัทจำนวนมากที่ใช้ Data Scientist เพื่อช่วยจัดการกวาดเก็บข้อมูลเหล่านี้จากทั่วโลก นำมาประมวลผลด้วยเทคนิคต่าง ๆ จนอยู่ในรูปแบบที่พร้อมนำไปใช้งาน และแน่นอนว่าสำหรับข้อมูลทางเลือกเหล่านี้ย่อมมีราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อให้ได้มันมา จึงมีคำกล่าวที่ว่า ศตวรรษที่แล้วผู้ครอบครองน้ำมันคือผู้ครองอำนาจ แต่ในศตวรรษหน้าผู้ครอบครองข้อมูลเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ครองอำนาจ ที่จะทรงความได้เปรียบอย่างแท้จริง

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด