มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ผลของการกีดกันทางการค้า

10 สิงหาคม 2561

        เมื่อไม่นานมานี้หลายท่านคงจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับประเด็นสงครามทางการค้าที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นำโดยสหรัฐฯ ที่เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับจีน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน โดยเริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นปี สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์เซลล์ ต่อด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราสูงกว่า 178 รายการ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาขึ้นภาษีสินค้าอื่นอีกโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ทำให้จีนและประเทศคู่ค้าออกมาตรการตอบโต้ทันควันในลักษณะเดียวกัน โดยจีนขึ้นภาษีตอบโต้ในกลุ่มสินค้าเหล็กและอาหารโดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้บรรยากาศของสงครามการค้ารอบใหม่นี้ขยายตัวขึ้น

        นักวิเคราะห์ต่างออกมาแสดงความเป็นกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อนี้สาเหตุก็เพราะว่าการกีดกันทางการค้านั้นจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม เพราะการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจะทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน(Global Supply Chain) โดยในมุมเศรษฐกิจของประเทศผู้ตั้งกำแพงภาษีเองนั้นการกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบตั้งแต่ความต้องการซื้อภายในประเทศที่จะถดถอยลง อันเนื่องมาจากต้นทุนของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อได้ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางหันมาปรับใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อชะลอเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ส่วนในมุมของผู้ส่งออกนั้นการโดนตั้งกำแพงภาษีย่อมทำให้เกิดการชะลอตัวลงของการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่จะตกต่ำลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด Morgan Stanley คาดการณ์ถึงผลของการกีดกันทางการค้าครั้งนี้ว่าจะส่งผลกระทบอยู่ที่ราว 0.09%-0.8% ของ GDP โลก โดยจะตกอยู่ที่จีนและสหรัฐฯ เองเป็นหลัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบังคับใช้มาตรการ โดยจะต้องไม่ลืมว่าตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นทางตรงจากนโยบายเท่านั้น ยังไม่รวมถึงผลกระทบโดยอ้อมที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา เช่นในตลาดทุนนั้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจนำไปสู่การเติบโตที่ลดลงของบริษัทต่างๆ กดดันการขยายการลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตรวมไปถึงบรรยากาศการลงทุน ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจและระมัดระวังการซื้อขายมากขึ้น และเริ่มเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงลง โดยเฉพาะกับประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งรวมถึงไทยเราด้วย

 

 

        เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกนั้น ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยหรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ไทยเราจึงอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกหนีไม่ได้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสได้รับผลกระทบนั้นได้แก่กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโซลาร์เซลล์ รวมไปถึงกลุ่มผู้ส่งออกเหล็กซึ่งอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสินค้าที่ถูกส่งมายังไทยมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ก็มีแนวโน้มที่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีเป้าหมายส่งออกไปยังประเทศจีน ส่วนกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์นั้นยังคงต้องจับตามองนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการในไทยซึ่งอยู่ในระหว่างห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการมาตรการกีดกันทางการค้าเช่นกัน เช่น การได้ประโยชน์จากการกีดกันการลงทุนสินค้าเทคโนโลยีจากจีนของสหรัฐฯ โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าเทคโนโลยีส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าบางชนิดที่ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากขึ้นหรือมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง

        จากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะพอเห็นภาพของผลกระทบของการกีดกันทางการค้ามากขึ้นและมองเห็นถึงโอกาสและเตรียมพร้อมรับมือถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีผมก็หวังว่าสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศในปัจจุบันนี้จะคลี่คลายลงในอนาคตอันใกล้ และช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนให้เป็นไปอย่างสดใสครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด