Money DIY 4.0 by SCBAM : มุมมองและการจัดพอร์ตการลงทุน

8 ตุลาคม 2563

       สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการแพร่ระบาดโดยรวมลดลง โดยมีสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดราว 7 ล้านราย ตามด้วยอินเดียประมาณ 5.5 ล้านราย และบราซิลกว่า 4.5 ล้านราย ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 3,500 ราย และมีการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างเข้มงวด ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

       สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงครึ่งปีแรก รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็ออกนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนและพยุงตลาด เช่น การปรับลดและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาด เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% และภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย “โครงการคนละครึ่ง” ที่มีจุดประสงค์เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมภาคบริโภค

       อย่างไรก็ตาม ตลาดโดยรวมยังคงมีความผันผวนอยู่จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีโอกาสกาสรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงการทดลองวัคซีนสำหรับ COVID-19  ที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง AstraZeneca และ Oxford University หยุดชะงักชั่วคราวเพราะกลุ่มคนทดลองบางรายมีโรคแทรกซ้อน นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาจากการขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากหุ้นดังกล่าวปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างก็มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม เช่น หุ้นและตราสารหนี้เอกชนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว หากมองในแง่รายประเทศ จีนยังคงน่าสนใจเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นฟูกลับมาใกล้เคียงกับสภาวะปกติก่อน COVID-19 แล้ว โดยเฉพาะหุ้น A-Shares ที่เน้นการดำเนินธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก

 

       

       ในด้านกลุ่มธุรกิจ Tech & Digital ได้รับผลบวกจาก Work From Home ทำให้มีจำนวนผู้ใช้มากขึ้นเพื่อการทำงาน สื่อสารและเข้าถึงข้อมูล รวมถึงหุ้นกลุ่ม Robotics ที่ได้รับประโยชน์จาก e-commerce และภาคการผลิตสมัยใหม่ซึ่งต้องพึ่งพาระบบอัตโนมัติ เครื่องจักร การจัดการคลังเก็บสินค้าและการจัดส่งมากขึ้น นอกจากนี้หุ้นกลุ่ม Health Care ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการวิจัย การรักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องเป็นอีกทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ ถึงแม้หุ้นทั้งสามกลุ่มนี้จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นปี และมีมูลค่าค่อนข้างสูง รวมถึงมีความผันผวนระยะสั้นจากขายทำกำไรในกลุ่ม Tech และการหยุดชะงักชั่วคราวของการพัฒนาวัคซีน แต่ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุค New Normal

       ส่วนของตราสารหนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการอัดฉีดเงินของภาครัฐเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดและความมั่นใจของนักลงทุนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ตราสารหนี้เอกชนยังคงเป็นอีกหนึ่งประเภทสินทรัพย์ที่น่าสนใจ

       ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในช่วงเปราะบางจากความไม่แน่นอนของ COVID-19 ความขัดแย้งทางการเมือง และการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ โดยการจัดสัดส่วนพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ควรให้ความสำคัญกับหุ้นกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดอย่างใกล้ชิด และควรมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อโอกาสลดความผันผวนระยะสั้นและเพิ่มเสถียรภาพของพอร์ตโดยรวม

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด