มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : เศรษฐกิจโลกกับนโยบายทรัมป์ ยังไม่สายหากเริ่มทำความเข้าใจ

8 กุมภาพันธ์ 2560

          ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯ มีนักวิเคราะห์หลายท่านได้วิเคราะห์นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดคะเนว่านโยบายหลายอย่างฟังดูหลุดโลกเกินไปไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง หรือถ้านำมาใช้จริงก็คงเป็นแบบเบาๆ ไม่รุนแรงเหมือนตอนที่หาเสียงและไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจนัก

          แต่หลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 2 สัปดาห์ ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้เซ็นคำสั่งออกกฎหมายหลายอย่างที่เหนือความคาดหมาย เริ่มตั้งแต่การถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค หรือ TPP การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก การยื่นเรื่องขอเจรจาสนธิสัญญาการค้าเสรี NAFTA กับแคนาดาและเม็กซิโกใหม่ การประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การลดภาษีให้กับภาคธุรกิจ และล่าสุดกับคำสั่งห้ามบุคคลจาก 7 ประเทศในตะวันออกกลางเดินทางเข้าสหรัฐฯ ที่นำไปสู่การประท้วงอย่างกว้างขวางจากทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เอง

          ถึงเวลานี้คงไม่มีใครที่คิดว่า ทรัมป์จะไม่เอาจริงกับเรื่องอื่นๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว การวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายต่างๆ ทรัมป์ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ (แนะนำให้เข้าไปอ่านโดยละเอียดได้ที่ donaldjtrump.com/policies) ต้องอาศัยการคาดเดามาพิจารณาประกอบกับหลักวิชาการโดยปกติ พบว่าหลายสิ่งหลายอย่างเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกลับหัวกลับหางมิใช่ค่อยเป็นค่อยไปเหมือนรัฐบาลก่อนๆ ที่เคยเป็นมา 

          เริ่มจากนโยบายการค้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกโดยตรง นอกจากการถอนตัวจาก TPP และรื้อการเจรจา NAFTA ใหม่แล้ว นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ข้อต่อๆ ไปก็คือการเพ่งเล็งประเทศจีนโดยตรง ตั้งแต่เรื่องที่กล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายให้ค่าเงินอ่อนค่าเป็นตัวเอาเปรียบ รวมถึงจีนใช้เงินอุดหนุนภาคส่งออกทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และกำหนดใช้กำแพงภาษีนำเข้าสินค้ามากีดกันสินค้าจากจีน  การงัดข้อกับจีนตรงๆ แบบนี้ก็เรื่องใหญ่สิครับ ถ้าทรัมป์ลงมือทำจริงประเทศจีนก็คงจะโต้ตอบอย่างแน่นอน เราก็เห็นอยู่แล้วว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายที่วางขายในสหรัฐฯ นั้นส่วนใหญ่ผลิตในจีน และเช่นเดียวกันจีนเองก็ซื้อเครื่องบิน ยา และ อุปกรณ์ต่างๆ มากมายจากสหรัฐฯ หากทั้งสองประเทศเริ่มใช้นโยบายกีดกันทางการค้าโต้ตอบซึ่งกันและกันแล้ว  ปริมาณสินค้านำเข้า - ส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศก็น่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณที่ลดลงอย่างชัดเจน เศรษฐกิจจีนที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักอาจหดตัวอย่างรุนแรง และในทางกลับกันราคาสินค้าในสหรัฐฯ เองก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อจนธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเช่นกัน

          ยิ่งไปกว่านั้นทรัมป์ได้หาเสียงไว้ว่า จะให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ขึ้นบัญชีดำประเทศจีนในฐานะปั่นค่าเงิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดการตอบโต้จากจีน และสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกต่างก็กังวลมาก คือ หากจีนกระหน่ำเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนถือครองอยู่ออกมา อาจสร้างความผันผวนในตลาดเงินโลกอย่างรุนแรงเพราะเป็นเงินสกุลหลักทั้งคู่ เมื่อสหรัฐฯ และจีนต่างแข่งกันลดค่าเงินประเทศอื่นก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ค่าเงินยูโรและเงินเยนรวมถึงสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่อื่นๆ อาจกลับมาแข็งค่าชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็คงจะแข็งค่าอยู่ได้ไม่นานต้องปรับตัวลงด้วยเช่นกันเพราะไม่สามารถแข่งขันกับมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกทั้งสองได้ ทองคำอาจกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้อานิสงส์แม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น 

          นโยบายการลดภาษีให้กับภาคธุรกิจและนโยบายการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานจะกระตุ้นการจ้างงาน ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็กและวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวข้องต่างๆ หากทำได้จริงก็จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดเงินเฟ้อเป็นเงาตามตัวไปด้วย และที่สำคัญคือ การก่อสร้างนั้นก็ต้องออกพันธบัตรมากู้ยืม ทำให้เพดานหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ สูงขึ้นจากที่สูงมากอยู่แล้ว สหรัฐฯ อาจโดนลดอันดับเครดิตเรตติ้งได้ (แต่หากทรัมป์ สามารถลดค่าใช้จ่ายทางการทหารในต่างประเทศและเงินสนับสนุนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่นสหประชาชาติและองค์กรนาโต้ได้จริงก็อาจไม่ต้องออกพันธบัตรเพิ่มหนี้ภาครัฐได้)

          เมื่อวิเคราะห์นโยบายทรัมป์ มาถึงตรงนี้ก็ยังหวังว่าประธานาธิปดีทรัมป์ จะไม่ก่อสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบกับจีน จนทำให้เกิดความผันผวนอย่างรุนแรงต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและตลาดการเงินการลงทุนโลก แต่หากลงมือทำจริงขอแนะนำท่านนักลงทุนว่าควรจะมีสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำติดพอร์ตไว้บ้าง ส่วนตราสารหนี้นั้นก็ควรเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นในยามที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดหุ้นนั้น สหรัฐฯ จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากนโยบายการค้าการลงทุนและนโยบายภาษี แต่ก็จะมีความเสี่ยงเข้ามากระทบเป็นระยะๆ จากความไม่แน่นอนของการโต้ตอบของประเทศคู่ค้าและการประท้วงของผู้คนภายในประเทศสหรัฐฯ ที่อาจลุกลามบานปลายได้ หุ้นจีนแม้จะราคาถูกค่าพีอีต่ำก็ยังต้องเผชิญกับความผันผวนที่คาดคะเนได้ลำบากหากไม่ใช่นักลงทุนมือโปรก็ควรอยู่ห่างไว้ก่อน  ส่วนหุ้นไทยนั้นแม้เศรษฐกิจในประเทศจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แต่หากมหาอำนาจงัดข้อกันเราก็อาจโดนลูกหลงไปด้วย ราคาพีอีที่อยู่ในเกณฑ์สูงอยู่ในขณะนี้อาจมีการปรับตัวลงบ้าง อาจขายทำกำไรออกมาก่อนแล้วค่อยทยอยเข้าไปสะสมใหม่ครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด