มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ความเปราะบางของเศรษฐกิจจีน

6 มีนาคม 2560

          ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกต่างก็เป็นกังวลกับปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นักวิเคราะห์หลายสำนักมักจะพูดถึงการเติบโตของจีดีพีที่ช้าลงจากที่เคยเติบโต 7-8% ลดลงมาเหลือประมาณ 6% แต่ถ้าเราหันมาพิจารณากันให้ดีจะเห็นว่าการเติบโตของจีดีพีระดับ 6% กว่านั้นยังถือว่าดีมาก ไม่ว่าจะเทียบกับเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนาก็ตาม ตลาดหุ้นจีนที่เซี่ยงไฮ้ที่เคยพุ่งไปสูงกว่า 5,000 จุดในช่วงปลายปี 2014 ก็ทรุดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3,000 จุดมากว่าสองปีแล้ว

          แล้วปัญหาของเศรษฐกิจจีนมันอยู่ที่ไหนกันแน่ ผมได้มีโอกาสไปฟังนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนบรรยายให้ฟังถึงปัจจัยต่างๆ ของเศรษฐกิจจีน  ตัวเลขส่งออกนำเข้าหรือแม้แต่ดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังดูแข็งแกร่งเกินดุลอยู่ หนี้ภาครัฐก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงแม้จะรวมหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นเข้าไปแล้วก็ยังต่ำกว่าประเทศในยุโรป สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นมาก ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนนั้นยังต่ำไม่ถึง 40% ของจีดีพี เพราะธนาคารในประเทศจีนยังมีการปล่อยสินเชื่อรายย่อยน้อยมาก แต่ปัญหามันอยู่ที่หนี้ภาคธุรกิจที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นมากว่า 160% ต่อจีดีพี ซึ่งทั้งธนาคารโลก(World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็ได้ออกมาเตือนให้รัฐบาลควบคุมการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจ

          ถ้าหลายท่านนึกภาพไม่ออกว่าหนี้ภาคธุรกิจที่สูงถึง 160% ต่อจีดีพีนั้นมันสูงขนาดไหน ขอเรียนว่ามันน่าตกใจมาก ถ้ายกตัวอย่างเปรียบเทียบว่าก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 หรือที่เรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น ประเทศไทยมีหนี้ภาคธุรกิจสูงประมาณ 140% ต่อจีดีพี ซึ่งหนี้ในระบบที่สูงขนาดนี้ก็จะมีภาระดอกเบี้ยสูงทำให้บริษัทต่างๆ อาจจะเริ่มผิดนัดชำระกลายเป็นหนี้เสียหรือ NPL ได้ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็มักจะขาดวินัยในการบังคับลูกหนี้เพราะหากหนี้นั้นกลายเป็นหนี้เสียก็กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารด้วยเช่นกัน ธนาคารบางแห่งจึงทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าและยืดการผ่อนชำระให้กับลูกค้า เพื่อให้หนี้นั้นไม่กลายเป็นหนี้เสียซึ่งเป็นการผลักปัญหาไปในอนาคตไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแต่อย่างใด ทำให้นักลงทุนมืออาชีพมีความกังวลเพิ่มขึ้นเข้าไปใหญ่

          เริ่มจากนโยบายการค้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าจะกระทบเศรษฐกิจโลกโดยตรง นอกจากการถอนตัวจาก TPP และรื้อการเจรจา NAFTA ใหม่แล้ว นโยบายที่ได้หาเสียงไว้ข้อต่อๆ ไปก็คือการเพ่งเล็งประเทศจีนโดยตรง ตั้งแต่เรื่องที่กล่าวหาว่าจีนใช้นโยบายให้ค่าเงินอ่อนค่าเป็นตัวเอาเปรียบ รวมถึงจีนใช้เงินอุดหนุนภาคส่งออกทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และกำหนดใช้กำแพงภาษีนำเข้าสินค้ามากีดกันสินค้าจากจีน  การงัดข้อกับจีนตรงๆ แบบนี้ก็เรื่องใหญ่สิครับ ถ้าทรัมป์ลงมือทำจริงประเทศจีนก็คงจะโต้ตอบอย่างแน่นอน เราก็เห็นอยู่แล้วว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายที่วางขายในสหรัฐฯ นั้นส่วนใหญ่ผลิตในจีน และเช่นเดียวกันจีนเองก็ซื้อเครื่องบิน ยา และ อุปกรณ์ต่างๆ มากมายจากสหรัฐฯ หากทั้งสองประเทศเริ่มใช้นโยบายกีดกันทางการค้าโต้ตอบซึ่งกันและกันแล้ว  ปริมาณสินค้านำเข้า - ส่งออกระหว่างทั้งสองประเทศก็น่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องของปริมาณที่ลดลงอย่างชัดเจน เศรษฐกิจจีนที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักอาจหดตัวอย่างรุนแรง และในทางกลับกันราคาสินค้าในสหรัฐฯ เองก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อจนธนาคารกลางต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเช่นกัน

          ยิ่งไปกว่านั้นทรัมป์ได้หาเสียงไว้ว่า จะให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ขึ้นบัญชีดำประเทศจีนในฐานะปั่นค่าเงิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดการตอบโต้จากจีน และสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกต่างก็กังวลมาก คือ หากจีนกระหน่ำเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนถือครองอยู่ออกมา อาจสร้างความผันผวนในตลาดเงินโลกอย่างรุนแรงเพราะเป็นเงินสกุลหลักทั้งคู่ เมื่อสหรัฐฯ และจีนต่างแข่งกันลดค่าเงินประเทศอื่นก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ค่าเงินยูโรและเงินเยนรวมถึงสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่อื่นๆ อาจกลับมาแข็งค่าชั่วคราว แต่ในที่สุดแล้วก็คงจะแข็งค่าอยู่ได้ไม่นานต้องปรับตัวลงด้วยเช่นกันเพราะไม่สามารถแข่งขันกับมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกทั้งสองได้ ทองคำอาจกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ได้อานิสงส์แม้ว่าจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น 

          แต่ที่ผ่านมารัฐบาลจีนก็ยังสามารถพยุงสถานการณ์ไว้ได้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ยังดีอยู่ ซึ่งหากเราย้อนกลับมาดูที่ระดับเศรษฐกิจมหภาคจะพบว่า ประเทศจีนยังเกินดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัด พูดภาษาชาวบ้านก็คือประเทศยังขายของได้มากกว่าที่นำเข้ามา หรือมีกำไรสะสมเป็นเงินตราสำรองที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ถ้าเมื่อใดที่ตัวเลขการส่งออกลดลงต่ำกว่าการนำเข้าทำให้ขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ความเปราะบางก็จะซ้ำเติมปัญหาหนี้ภายในประเทศกลายเป็นวิกฤติได้  ยิ่งประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายตอนหาเสียงไว้ชัดเจนว่าจะเพิ่มกำแพงภาษี ลดการขาดดุลกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน จีนยิ่งควรต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้ในประเทศ 

          สิ่งที่รัฐบาลจีนควรเร่งมือทำมีสองประเด็น คือ ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคตัวอื่นยังดีอยู่ การบังคับเพิ่มทุนให้กับธนาคารต่างๆ และเดินหน้าตัดหรือล้างหนี้เสียออกจากระบบแบบครั้งใหญ่จะช่วยทำให้ระบบธนาคารเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับ Henry Paulson รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ที่ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วในช่วงวิกฤติซับไพร์ม เพราะถ้าหากรอจนหนี้เสียเริ่มขยายตัว ธนาคารต้องตั้งสำรองหรือตัดหนี้เสียและทำให้ประสบภาวะขาดทุน ประชาชนก็จะขาดความเชื่อมั่นแห่ไปถอนเงิน เมื่อถึงวันนั้นธนาคารก็จะกลัวและหยุดปล่อยสินเชื่อทำให้เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วทรุดตัวเร็วขึ้นไปอีก หากไปเพิ่มทุนธนาคารเวลานั้นก็จะสายเกินไป เพราะความเชื่อมั่นในระบบที่เสียไปแล้วต้องใช้เวลาในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

          อีกประเด็นที่จีนต้องทำควบคู่กันไป คือ พยายามทำให้สกุลเงินหยวนของจีนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศ เพราะหากประเทศทั่วโลกเชื่อมั่นในสกุลเงินหยวนของจีนแล้ว จีนก็จะมีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มมาช่วยพยุงเศรษฐกิจในยามที่จำเป็น เหมือนกับที่สหรัฐฯ และยุโรปได้ใช้นโยบาย Quantitative Easing  มาแล้วในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศเผชิญกับวิกฤติของตน  การทำ Quantitative Easing หรือการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเงินเข้าไปในระบบเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวลงเร็วเกินไปนั้น จะได้ผลดีต่อเมื่อสกุลเงินนั้นเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ หรือในทางตรงกันข้าม หากประเทศที่ประสบปัญหาเป็นประเทศเล็กและสกุลเงินไม่เป็นที่ยอมรับ การทำ QE จะไม่ได้ผล นักลงทุนจะมองว่าเงินที่เพิ่มเข้ามาในระบบไม่มีค่าไม่ต่างกระดาษใบหนึ่งเท่านั้น เงินสกุลนั้นก็จะอ่อนลงอย่างรวดเร็วเกิดเงินเฟ้อซ้ำเติมอีก

          สำหรับท่านนักลงทุนที่ติดตามตลาดจีนคงต้องเฝ้าดูตัวเลขและการแก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นก็ต้องดูตัวเลขดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจระดับมหภาคของจีนอยู่ หากไม่มีการแก้ปัญหาหนี้ที่เป็นรูปธรรมหรือตัวเลขการเกินดุลกลับกลายเป็นขาดดุลติดต่อกันแล้ว ความเปราะบางอาจลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกได้นะครับ

 

โดย คุณสมิทธ์  พนมยงค์ ​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด