มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ภาวะการลงทุน และแนวโน้มในตลาดเกิดใหม่

4 ตุลาคม 2561

        หลังจากที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมากในเดือนกุมภาพันธ์ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียยังคงโดนเทขายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสาเหตุหลักเกิดจากความตึงเครียดจากสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงในอนาคตอันใกล้ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งมักจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงนั้นได้รับผลกระทบซ้ำเพิ่มเติมอีกด้วย

        โดยล่าสุดสหรัฐฯ ทำการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจำนวน 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 25% และจีนได้ตอบโต้กลับในจำนวนที่เท่ากัน นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีแผนการที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกจำนวน 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในอัตรา 10% ซึ่งจะมีผลในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา และอาจสูงขึ้นเป็น 25% ในช่วงเดือนมกราคมปีหน้าหากจีนคิดจะตอบโต้ (อย่างแน่นอนครับ)

        เมื่อพิจารณาดูเป็นรายภูมิภาค เราจะเห็นว่าตลาดหุ้นจีนถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับผลกระทบมากสุดจากความกังวลของนักลงทุนซึ่งเกิดจาก 3 ประเด็น คือ ประเด็นสงครามการค้า ประเด็น deleveraging หรือการที่ไม่สามารถลดภาระหนี้ภายในประเทศ ทำให้เกิดโอกาสที่ไม่สามารถชำระหนี้ (default risk) สูงขึ้น และประเด็นนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด ทำให้ตลาดปรับตัวเข้าสู่ขาลงและอยู่ในระดับการประเมินมูลค่า (valuation) ที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง แม้ว่าการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียนจะออกมาอยู่ในเกณฑ์ดีในทั้ง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังคงทยอยประกาศออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อย่างไรก็ตามในระยะหลังเราได้เริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากจีนโดยมีการกลับลำของนโยบายการเงิน และมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากขึ้น

        ในขณะเดียวกันเมื่อหันมามองที่ตลาดอินเดีย แม้จะดูไม่ได้โตนักแต่กลับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคและในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน จากแรงหนุนของนโยบายทางการคลังแบบขาดดุล การปฏิรูปอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า ในขณะที่ตลาดส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ตลาดไต้หวัน และเกาหลีใต้ ซึ่งได้ส่งสินค้าไปประกอบชิ้นส่วนที่จีนเป็นจำนวนมาก ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าซึ่งส่งผลให้มีการตัดสินใจชะลอตัวในการลงทุน และยอดสั่งซื้อใหม่ของผู้ประกอบการในจีนนั่นเอง

        ในส่วนของตลาดในละตินอเมริกานำโดย อาร์เจนตินา บราซิล และตุรกี เรายังคงต้องจับตากับปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะตัวที่ยังคงสร้างความผันผวนให้กับตลาดในประเทศว่าจะอยู่ในวงจำกัดหรือจะลุกลามหรือไม่ต่อไป

 

 

 

        เมื่อมองดูทางออกของประเด็นสงครามการค้านั้น หากพิจารณาในเงื่อนไขด้านเวลา ตลาดมองว่าอย่างน้อยก็จนถึงช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งจะมีการเลือกตั้งกึ่งเทอม (midterm election) ในสหรัฐฯ ซึ่งโพลล่าสุดปรากฏว่าคะแนนนิยมของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ลดลง ผลสำรวจได้ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคเดโมแครตอาจกลับมากุมเสียงข้างมากในสภาได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ทางกฎหมายของการเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทันที (ปัจจุบันทำไม่ได้เนื่องจากพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากสภา) ดังนั้นการตัดสินใจของทรัมป์ในประเด็นสงครามการค้าในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงการเลือกตั้งดังกล่าวในอีกสองเดือนข้างหน้าเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะจีน ซึ่งอาจเริ่มมีแรงจูงใจที่จะประวิงเวลาของการเจรจาออกไปก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าหากยอมตกลงทำ trade deal อะไรกับ “อเมริกาของทรัมป์” ไปแล้ว เขาจะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

 

        สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ ทำให้ย้อนนึกกลับไปถึงตลาดเมื่อช่วงประมาณปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่เฟดมีการปรับดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับตัวแข็งค่า ซึ่งในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีหลังจากนั้น (2005-2007) เมื่อนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการคลัง การเงิน และการค้ามีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศยังคงมีเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เราได้เห็นตลาดเกิดใหม่วัดด้วยดัชนี MSCI Emerging Markets เติบโตได้มากขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 3 ปี

        การทยอยเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหลักๆ ในภูมิภาคเอเชียหลายตลาดที่ได้มีการปรับตัวลดลงมาในระยะหลังอาจเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างปลอดภัย (Margin of Safety) ที่สำคัญและเป็นกลยุทธ์ที่น่าพิจารณาจัดสรรการลงทุนบางส่วนเข้าถือครองไว้

        ท่ามกลางการประเมินมูลค่า (valuation) ของตลาดพัฒนาแล้วที่เริ่มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยังคงมีตลาดเกิดใหม่ที่น่าสนใจหลายตลาดเช่น จีน อินเดีย หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ที่ยังคงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีนโยบายการเงินและ/หรือการคลังที่สนับสนุน อีกทั้งยังมีระดับ valuation ที่ยังคงถูกเมื่อเทียบกับคุณภาพ ไม่ว่าจะมองเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต หรือจะเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยกันก็ตาม

        อย่างไรก็ตาม ผมยังมองว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย และอาจตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนของท่านได้  แต่...สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหารนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด