มันนี่ ดีไอวาย 4.0 by SCBAM : ผลกระทบจาก IMO 2020

3 ธันวาคม 2562

       ในช่วงที่ผ่านมาท่านผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินมาตรการจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Maritime Organization (IMO) ที่ได้ประกาศให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของกำมะถันลดลงต่ำกว่า 0.5% จากเดิม 3.5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยต้องการให้การใช้น้ำมันเดินเรือซึ่งคิดเป็นปริมาณมากถึง 4% ของความต้องการใช้น้ำมันทั้งหมดทั่วโลกมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ท่านที่อยู่ในแวดวงการลงทุนคงพอจะทราบมาบ้างว่ากลุ่มธุรกิจที่ถูกจับตามองว่าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้แก่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่น เนื่องจากในมุมของผู้เดินเรือนั้นหากไม่ลงทุนติดตั้งเครื่องบำบัดอากาศเสีย (Scrubber) ซึ่งใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงเพิ่มเติม ก็ต้องเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตากำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) หันไปใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) หรือน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (Marine Gas Oil: MGO) แทน เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ IMO ซึ่งจะทำให้ความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปจำพวก Middle Distillate (ดีเซลหรือน้ำมันอากาศยาน) เพิ่มสูงขึ้นและเป็นผลบวกต่อกลุ่มโรงกลั่นนั่นเอง

       อย่างไรก็ดีใช่ว่าโรงกลั่นทุกโรงจะได้รับประโยชน์ไปทั้งหมด เนื่องจากแต่ละโรงกลั่นนั้นก็มีความสามารถและลักษณะที่แตกต่างกัน โดยกุญแจสำคัญคือ โรงกลั่นที่มีสัดส่วนในการผลิตน้ำมันดีเซลสูงและผลิตน้ำมันเตาออกมาน้อย จะได้ประโยชน์มากกว่าโรงกลั่นที่เน้นผลิตน้ำมันเบนซิน รวมถึงความสามารถในการเลือกใช้น้ำมันดิบที่หลากหลาย และสามารถเลือกใช้น้ำดิบชนิดหนักซึ่งมีราคาถูกจะช่วยลดต้นทุนให้กับโรงกลั่นได้ ซึ่งโรงกลั่นในไทยและเอเชียหลายแห่งก็มีคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างจับตามองส่วนต่างน้ำมันดิบกับดีเซลและน้ำมันเตาว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดถึงผลกระทบที่เกิดจะขึ้นจากมาตรการ IMO ในช่วงที่มาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าส่วนต่างน้ำมันดีเซลกับน้ำมันดิบดูไบจะพุ่งขึ้นสูงที่ระดับกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ส่วนต่างน้ำมันเตาหนักจะติดลบมากกว่า 10ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับน้ำมันดิบเนื่องจากความต้องการใช้ที่ลดลง

       

       คำถามที่ตามมาก็คือ สถานการณ์ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์นั้นเป็นอย่างไร เมื่อเรากำลังนับถอยหลังสู่วันที่มาตรการ IMO จะมีผลบังคับใช้เข้าไปทุกที สิ่งที่เราจะเห็นก็คือการตื่นตัวของโรงกลั่นจากการปิดซ่อมบำรุงที่มากกว่าระดับปกติในเอเชียเพื่อเตรียมกลั่นได้อย่างเต็มที่ในปีหน้า สอดคล้องผลสำรวจจากหลายแหล่งตรงกันว่าบริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ประกาศว่าจะปฏิบัติตามกฎมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี รวมถึงเราเห็นความผันผวนอย่างมากในราคาน้ำมันเตา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการลดลงของสภาพคล่องและปริมาณสินค้าคงคลัง ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจาก IMO กำลังเริ่มเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว

       อย่างไรก็ดี สถานการณ์ต้นทุนของโรงกลั่นที่สูงขึ้นก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นค่าพรีเมียมน้ำมันดิบจากตะวันออกลางรวมถึงค่าขนส่ง (Freight Rate) ที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในรอบหลายปี เนื่องจากผลกระทบภายหลังการเกิดเหตุการณ์โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในซาอุดิอาระเบียตามมาด้วยการโจมตีเรือขนส่งของอิหร่าน รวมถึงการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรเรือขนส่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของจีน หลังจากพบว่ามีการลักลอบขนส่งน้ำมันออกจากอิหร่าน (ถือว่าขัดต่อมาตรการคว่ำบาตรระดับสูงสุดของสหรัฐฯที่มีต่ออิหร่านในขณะนี้) ทำให้อุปทานเรือขนส่งในตลาดลดลง ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญกระทบต่อต้นทุนการสั่งซื้อน้ำมันดิบของโรงกลั่นรวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายยังต่างประเทศ โดยแม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเกิดเพียงในระยะสั้น เพราะมีการลดกำลังการผลิตจากโรงกลั่นที่ตั้งอยู่ในระยะไกลและการลดการส่งออกจะผลักดันให้ค่าขนส่งปรับลดลงในที่สุด รวมถึงยังมีกลไกตลาดที่ช่วยส่งผ่านผลกระทบด้านต้นทุนไปยังราคาผลิตภัณฑ์ด้วย

       นอกจากอุตสาหกรรมโรงกลั่นที่ดูจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากมาตรการ IMO 2020 แล้วนั้น ก็ยังมีกลุ่มธุรกิจเรือจัดเก็บน้ำมันแบบลอยน้ำ (Floating Storage Unit หรือ FSU) ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ในแง่ความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อจัดเก็บและผสม LSFO ในขณะที่ผู้ใช้ก๊าซอุตสาหกรรมก็อาจได้รับอานิสงส์ไปด้วยเช่นกัน หากผลกระทบจากมาตรการ IMO มีมากขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันเตาปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสูตรราคาขายก๊าซในประเทศไทยบางส่วนผูกติดอยู่กับราคาน้ำมันเตา ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปหรือข้าวของเครื่องใช้ปรับตัวสูงขึ้นก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์จากการที่โลกของเราจะมีการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เนื่องจากการศึกษาของ Goldman Sachs พบว่า การเผาไหม้น้ำมันเตาจากเรือลำใหญ่ที่สุดเพียง 15 ลำ ก็สามารถปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่าปริมาณก๊าซซัลเฟอร์จากรถยนต์ของคนทั้งโลกเสียอีก

       อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด