Money DIY 4.0 by SCBAM : ตลาดเอเชียโอกาสการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม

3 มีนาคม 2564

       ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งนำไปสู่มาตรการ lockdown ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และนำไปสู่การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งแตะจุดต่ำสุดในรอบปีในช่วงเดือนมีนาคม 2563 อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการปรับตัวดีขึ้น สังเกตได้จากดัชนี PMI ของประเทศหลักส่วนใหญ่พลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว โดยปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น เช่น ความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ซึ่งบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งเปิดเผยข้อมูลผลการทดสอบวัคซีน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อในระดับที่สูง และเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และคาดว่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายในเอเชียในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

       นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโนยบายการเงินและการคลังยังมีออกมาให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ และการทำ QE ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ แม้ว่าปัจจุบันความกังวลของการแพร่ระบาดรอบใหม่ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า อีกทั้งผลการเลือกตั้งของผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมาเป็นนาย โจ ไบเดน ยังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยบวกที่น่าจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในฝั่งเอเชีย เพราะท่าทีที่ค่อนข้างผ่อนปรนและประนีประนอมต่อประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งแตกต่างเมื่อเทียบกับการตอบกลับอย่างแข็งกร้าวของสมัยการบริหารของนายทรัมป์ที่มักจะส่งผลลบต่อ sentiment ของตลาดในก่อนหน้านี้

       สำหรับตลาดหุ้นในเอเชีย นับเป็นหนึ่งภูมิภาคที่น่าสนใจลงทุน คาดว่าในปีนี้น่าจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากตลาดหุ้นเอเชียน่าจะได้รับผลบวกจากปัจจัยดังต่อไปนี้ (1) ข่าวดีจากการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 (2) การเติบโตของตลาด Semiconductor  และ (3) ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง นอกจากนี้ตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับอานิสงค์จากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่สามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ได้รวดเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานในกลุ่มประเทศเอเชียยังมีค่าแรงที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทำให้เป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจในการร่วมมือทางการค้าด้วย

 

       

       กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียยังมีความน่าสนใจสูง อาทิ Tencent, Alibaba, Samsung และ TSMC ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังสูงกว่ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าพื้นฐาน (12-month Forward P/E) ที่ถูกกว่า อีกทั้ง ตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของ Semiconductor  ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเอเชีย ข้อมูลในตลาดชี้ให้เห็นว่าระดับสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่หนุนให้บริษัทผู้ผลิตชิปเร่งผลิตสินค้าออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยี 5G ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้ของผู้ผลิต Smartphone ที่ใช้ 5G จะเติบโตสูงถึง 18% CAGR ในปี 2021 – 2023 นับเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตของSemiconductor และตลาดหุ้นเอเชีย แม้กลุ่มประเทศในเอเชียจะได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ช้ากว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ Earnings และ Valuation ยังมีความน่าสนใจกว่า ประกอบกับค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มจะไหลเข้ามาสู่กลุ่มประเทศเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง

       สำหรับนักลงทุนที่มีความสนใจในการลงทุนไปยังหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชีย ปัจจุบันมีบางบริษัทจัดการได้นำเสนอทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยคัดสรรกองทุนที่เน้นการลงทุนในธีมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัว และเติบโตของตลาดเอเชีย โดยกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น Consumer Discretionary, Communication Services และ Consumer Staples ในหลากหลายประเทศ อาทิเช่น จีน อินเดีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนรวม และทำความเข้าใจความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนประเภทต่าง ๆ ก่อนที่จะลงทุน

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด