ใกล้ช่วงปลายปีเมื่อไหร่ นักลงทุนหลายคนจะเริ่มมองหาวิธีลดหย่อนภาษี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ กองทุน RMF เนื่องจากเป็นการลงทุนที่นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีควบคู่ไปกับการออมเงินระยะยาว โดยสามารถใช้ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินในปีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ อย่างไรก็ดี การลงทุนที่ดีก็ไม่ควรมองแค่ผลประโยชน์ทางภาษีอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงการจัดสรรการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายทางการเงินระยะยาวด้วย ดังนั้น “หัวใจสำคัญของการลงทุนที่ดี” จึงอยู่ที่การกระจายความเสี่ยง เพราะทำให้มีส่วนช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวมได้ ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยงที่ดีไม่ใช่เพียงแค่กระจายการลงทุนไปยังหลากหลายประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องกระจายไปยังหลายสินทรัพย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือแม้แต่สินทรัพย์ทางเลือก อย่างเช่น ทองคำ เพื่อให้นักลงทุนสามารถโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างกองทุนไปมาได้ตามภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่า การเลือกจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะสมจะดูเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ในปัจจุบัน นักลงทุนสามารถใช้วิธีการลงทุนแบบ Quant ในการช่วยให้คำแนะนำการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้
Quant Investment คืออะไร?
Quant Investment หรือการลงทุนเชิงปริมาณ เป็นการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเพื่อระบุโอกาสในการลงทุน เปรียบเสมือนการใช้ "สมองกล" ที่มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลมหาศาลมาช่วยตัดสินใจลงทุน ซึ่งการลงทุนแบบ Quant มีข้อดีหลายประการ คือ (1) เป็นการลงทุนที่ไม่มีอคติ เพราะการตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและตรรกะ ไม่ใช่อารมณ์หรือความรู้สึก (2) วิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน โดยศึกษาความสัมพันธ์ของข้อมูลจำนวนมาก ทำให้การคาดการณ์อนาคตที่แม่นยำยิ่งขึ้น (3) มองความเสี่ยงเชิงองค์รวม สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวพันกันระหว่างสินทรัพย์ต่างๆ และ (4) ประมวลผลข้อมูลมหาศาล สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
4 ขั้นตอนพื้นฐานของกระบวนการ Quant Investment
ตามหลักการพื้นฐานของ Quant Investment นั้น มีขั้นตอนกระบวนการสร้างโมเดลที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป โดยกระบวนการจะเริ่มต้นจาก “การรวบรวมข้อมูล” โดยเก็บข้อมูลที่ต้องการนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณา เช่น ข้อมูลราคาหุ้นย้อนหลัง ข้อมูลทางการเงินของบริษัทที่ต้องการลงทุน และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง จากนั้น “ใช้ข้อมูลวิเคราะห์ความสัมพันธ์” โดยการนำข้อมูลทางสถิติมาหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับราคาหุ้นเพื่อสร้างโมเดล พัฒนาสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ปัจจัยเหล่านี้ในการทำนายราคาหุ้น และทำการ “ทดสอบโมเดล” โดยการใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อตรวจสอบความแม่นยำของโมเดล และสุดท้าย “ปรับแต่งและใช้งาน” ด้วยการพัฒนาปรับปรุงโมเดลให้มีความแม่นยำมากขึ้น และใช้ในการคาดการณ์ราคาหุ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น หากต้องการวิเคราะห์กองทุนหุ้น SET Index การพิจารณาอาจใช้ปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ และตัวเลข GDP ของไทย ซึ่งโมเดล Quant จะวิเคราะห์ว่าปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อราคา SET Index อย่างไรในอดีต และใช้ข้อมูลนี้ในการคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคต การใช้ Quant ในการเลือกซื้อหรือสับเปลี่ยนกองทุนลดหย่อนภาษีก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน โดยอาจพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผลตอบแทนในอดีต ความผันผวนของกองทุน และสภาวะตลาดการเงินโลก เป็นต้น
บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) มีข้อมูลเผยแพร่เป็นรายเดือน เพื่อแนะนำสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมจากการพัฒนา Quant Model ที่นักลงทุนสามารถนำไอเดียมาใช้เป็นตัวช่วยในการเลือกกองทุน RMF รวมถึงปรับพอร์ตลงทุนแบบ Tax-saving Portfolio Intelligence ด้วย Machine Learning และสามารถใช้เป็นแนวทางบริหารพอร์ตภาษีให้มีเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและหาโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ โดยข้อมูลจะแบ่งเป็น 3 ระดับความเสี่ยง คือ ระดับ Aggressive (เสี่ยงสูง) สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและมุ่งหวังกับโอกาสของผลตอบแทนที่สูงกว่า ระดับ Moderate (เสี่ยงปานกลาง) ซึ่งจะลงทุนผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำและเสี่ยงสูง สำหรับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และระดับ Conservative (เสี่ยงต่ำ) สำหรับนักลงทุนที่มุ่งหวังการรักษาทุน และโอกาสรับผลตอบแทนที่มั่นคง พร้อมคำแนะนำสัดส่วนกองทุนผ่านตัวเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีที่ SCBAM มีให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ตามสภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ของ SCBAM ได้ที่ https://www.scbam.com/th/knowledge/Tax-Saving-Portfolio
โดย คุณนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด