Money DIY 4.0 by SCBAM : ธีมการลงทุนและ Maga Trends ที่น่าจับตามองหลังปี 2022

2 กันยายน 2565

          การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวขึ้นอยู่กับการเลือกลงทุนหุ้นได้ถูกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้นใหญ่ชัดเจน ดังนั้นนักลงทุนที่เห็นสัญญาณการก่อเกิดของเทรนด์ลงทุนใหม่ๆ และสามารถลงทุนในหุ้นที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทรนด์นั้นได้ ย่อมจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถถือหุ้นได้นานหลักปีและได้ผลตอบแทนมากเป็นกอบเป็นกำ

          การจะเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังจะมาในอนาคต ย่อมเกิดจากการเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาแล้วในอดีต หากย้อนมองกลับไปตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เราได้เปลี่ยนผ่านการปฏิวัติใหญ่มาแล้วถึง 3 ครั้ง และกำลังจะเข้าสู่ครั้งที่ 4  การปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละครั้งนั้นจะส่งผลให้ธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ จะค่อยๆ ถูกทดแทน หมดความสำคัญ และไม่สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป การล้มเลิกกิจการในรูปแบบนี้เกิดได้กับธุรกิจทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ตั้งแต่ปี 1784 มีการนำเครื่องจักรไอน้ำ (Steam Engine) มาทดแทนการใช้แรงงาน เป็นการเพิ่มผลผลิตและทำให้ต้นทุนถูกลงในเวลาเดียวกัน ส่งผลกระทบต่ออาชีพแรงงานเนื่องจากไม่มีความต้องการแรงงานมากเท่าเดิม ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 1870 ได้มีการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาสู่พลังงานไฟฟ้า ทำให้เกิดระบบสายการผลิต (Assembly Line) ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตจำนวนมหาศาล (Mass Production) จนกลายเป็นความได้เปรียบเชิง Economy of Scale และในรอบที่ 3 ตั้งแต่ปี 1969 ซึ่งเป็นยุคเริ่มของคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) และทำให้การผลิตมีความซับซ้อนได้มากขึ้นอีก และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาเราจะเริ่มเห็นว่าระบบดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในด้านการผลิตมากขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ


          นอกจากนี้ ความตื่นตัวในเรื่องการรักษาธรรมชาติและสภาพแวดล้อมก็ได้มีการพัฒนามากขึ้น โดยเห็นได้จาก การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ครั้งที่ 29 ที่ผู้นำหลายๆประเทศได้เข้าร่วมเจรจาหาแนวทางข้อตกลงระยะยาว ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Carbon Neutral ภายในปี 2050 นอกจากนี้มีเรื่อง The Great Reset โดย World Economic Forum (WEF) ที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคถัดไป หรือแม้กระทั่ง Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ที่เป็นกองทุน Hedge Funds ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบอำนาจของโลก (Changing World Order) ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเป็นการแข่งขันระหว่างขั้วอำนาจสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐศาสตร์มหภาคในยุคต่อไปเช่นเดียวกัน

          ปัจจุบันเราพบว่าในการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้ง จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Mega Trend ซึ่งส่งแรงผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแต่ละครั้งมักจะใช้ระยะเวลาพัฒนาการยาวนาน และมักจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับ Mega Trends จะได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และมีโอกาสเห็นการเติบโตสูงกว่าโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่กำลังหมดความสำคัญลง และถูกกำจัดออกจากตลาดในที่สุด (Disruption)

          Mega Trends ที่นักลงทุนควรจับตามีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ธีมหลักที่น่าสนใจสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

  1. Economic Trend, Connectivity, and Power Shift เกี่ยวข้องกับทิศทางของระบบเศรษฐกิจในระดับโลก รวมไปถึงการที่หลายประเทศเริ่มพึ่งพาตนเองมากขึ้น (Decoupling) เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่การเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจและการค้าอยู่ในระดับสูง (Globalization) และการมีบทบาทมากขึ้นของประเทศฝั่งตะวันออก เช่น จีน

  2. Cognitive Era and Technological Breakthrough เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ในสาขาต่างๆ ที่สามารถพลิกโฉมพฤติกรรมและรูปแบบในการดำรงชีวิต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence), วัสดุนาโน (Nanomaterial), หรือแม้กระทั่ง Blockchain Technology

  3. Green Energy, Climate-Ecological Change, and Resource Scarcity คือการรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยเน้นในเรื่องพลังงานสะอาด (Clean Energy) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชะลอการปรับตัวขึ้นของอุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเล รวมไปถึงเรื่องของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Reduce/Reuse/Recycle) เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนของทรัพยากร

  4. Health, Wellness, and Wellbeing เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรที่ดีขึ้น ซึ่งเกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การตัดต่อพันธุกรรม (Genetic Engineering), วัคซีน mRNA, และการวินิจฉัยโรคด้วย AI

  5. Socio-Cultural Change, Urbanization, and Demographics คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรและวัฒนธรรม โดยเห็นได้จากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุที่มากขึ้นในขณะที่ประชากรในวัยทำงานมีจำนวนที่น้อยกว่า การกระจายตัวของประชากรที่อาศัยอยู่ในและนอกเมืองหลัก และวัฒนธรรมเฉพาะของประชากรในแต่ละยุคสมัย

          นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้น Mega Trends ได้ผ่านกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Megatrends ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนต่างประเทศที่เน้นหุ้นเติบโตเชิงโครงสร้างที่ได้และประโยชน์จาก Mega Trend หรือถ้าหากต้องการเลือกลงทุนธีมแบบเฉพาะเจาะจง ทางบลจ. ไทยพาณิชย์ ก็ยังมีกองทุนให้เลือกลงทุนในธีมต่างๆ เช่น

  • ธีมรักษ์โลก  SCBGEESG, SCBEV, SCBCLEAN
  • ธีมเทคโนโลยี  SCBBLOC, SCBSEMI
  • ธีมสุขภาพ  SCBIHEALTH, SCBGHC

          ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 02-777-7777 กด 0 กด 6 www.scbam.com

 

อ้างอิง

https://mjolner.dk/2015/01/14/realizing-the-fourth-industrial-revolution/

https://www.advisor.ca/microsite/industry-insights/megatrends-lead-to-alpha/

Investing in Mega Trends with Amundi ETFs. https://www.amundietf.com/

Global Mega Trends. https://www.futuresplatform.com

 

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย​
        ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​
        บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด