SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 30 มี.ค. – 3 เม.ย. 2563

30 มีนาคม 2563

“หลายประเทศออกนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่”

ตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านปรับตัวดีขึ้น หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม เช่น ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อลดทอนผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นสู่จำนวน 85,435 ราย แซงหน้าประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อปัจจุบันที่ 81,340 ราย ส่งผลให้กว่า 20 รัฐ ประกาศมาตรการคุมเข้ม เช่น การปิดเมืองไม่ให้คนเข้า/ออก และการบังคับให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัย โดยเฉพาะ New York และ California

วุฒิสภาสหรัฐฯ เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 11% ของ GDP โดยมาตรการส่วนใหญ่จะเน้นลดผลกระทบต่อตลาดแรงงานเป็นหลัก เช่น สนับสนุนวงเงินกู้ช่วยเหลือธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ขยายประกันการว่างงาน และ เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษี

Fed ลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศทำ QE อย่างไม่จำกัด  เพื่อหนุนสภาพคล่องในระบบการเงินและลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ

ECB ผ่อนผันข้อจำกัดตามกฎหมายเพื่อให้สามารถซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ได้เต็มที่ สะท้อนถึงความพยายามของ ECB ที่ต้องการหนุนเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและสเปนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในยุโรป

สหรัฐฯ พิจารณาหยุดแผนการซื้อน้ำมันดิบเข้าคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ จากแผนเดิม คือ การเข้าซื้อน้ำมันดิบจำนวน 77 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะเริ่มการเข้าซื้อเฟสแรกจำนวน 30 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน พ.ค. ไปจนถึงเดือน มิ.ย.  โดยมีวัตุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต Shale oil ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันต่ำ หลังจากการประกาศยกเลิกแผนเข้าซื้อดังกล่าว เป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดน้ำมันเผชิญภาวะ Oversupply มากกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงกว่า 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดัชนี PMI เบื้องต้นในเดือน มี.ค. ของประเทศหลักปรับตัวลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะภาคการบริการที่ปรับตัวลงมากกว่าคาด จากการที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศออกมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดเชื้อ COVID-19 เช่น การปิดเมือง การห้ามดำเนินธุรกิจบางอย่าง เช่น ร้านอาหาร บาร์ และการท่องเที่ยว และการห้ามคนออกจากที่พักอาศัย ซึ่งมาตรการดังกล่าวกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมากและฉับพลัน สะท้อนเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Recession นำโดยดัชนีรวม (Composite PMI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -9.1 จุด เป็น 40.5 จุด  โดยภาคบริการปรับตัวลดลงแรง -10.3 จุด เป็น 39.1 จุด ดัชนีรวมของยุโรปปรับตัวลดลง -20.2 จุด เป็น 31.4 จุด โดยภาคบริการปรับตัวลดลงแรง -24.2 จุด เป็น 28.4 และดัชนีรวมของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง-11.2 จุด เป็น 35.8 จุด โดยภาคบริการปรับตัวลดลงแรง -14.1 จุด เป็น 32.7 จุด

กลยุทธ์การลงทุน

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอสS&P500 (SCBS&P500)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอลดิจิตอล (SCBDIGI)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปสมอลแคป (SCBEUSM)