SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 25 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2564

25 มิถุนายน 2564

“ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ ยังอยู่ในแดนขยายตัว”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ค่อนข้างผันผวน หลังจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง จากเชื้อกลายพันธุ์ Delta ซึ่งมีจุดกำเนิดในอินเดีย โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป อีกทั้งในช่วงก่อนหน้า Fed เริ่มมีการส่งสัญญาณโดยมีทิศทางนโยบายการเงินที่จะเข้มงวดขึ้นและคณะกรรมการได้เริ่มหารือถึงแผนการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องแผนขึ้นภาษีของปธน. Biden ที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเดือนหน้า อย่างไรก็ดีตลาดโดยรวมยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนถึง 53.11% และ 38.83% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ฉีดไปแล้ว 29.45%, 19.00%, 17.52% และ 8.37% ตามลำดับ

ดัชนีรวม (Composite PMI) เดือน มิ.ย. ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว แม้ว่าดัชนีรวมสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง -4.6 จุด เป็นระดับ 63.9 จุด จากภาคบริการปรับตัวลดลง แต่ยังอยู่ในแดนขยายตัว อีกทั้งอุปสงค์ของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศยังแข็งแกร่งและธุรกิจยังสามารถดำเนินตามปกติ ขณะที่ดัชนีรวมยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง +2.1 จุด เป็นระดับ 59.2 จุด จากความคืบหน้าของการแจกจ่ายวัคซีนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามดัชนีรวมญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -1.0 จุด เป็นระดับ 47.8 จุด แม้ว่าภาคบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.7 จุด เป็น 47.2 จุด แต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัด ซึ่งรวมถึง Tokyo และ Osaka ระหว่างวันที่ 25 เม.ย. - 20 มิ.ย. เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะนี้

ธนาคารกลางญี่ปุ่น( BoJ) คงนโยบายการเงินตามเดิม โดยการประชุมรอบวันที่ 17-18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ -0.1% และคงเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อีกทั้งยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETFs และ REITs สูงสุดต่อปีที่ 12 ล้านล้านเยน และ 1.80 แสนล้านเยน ตามลำดับ พร้อมกับขยายระยะเวลาโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนออกไปจนถึง มี.ค. 2565

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ  จากมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวจากทางรัฐบาลมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีการเห็นชอบร่างกฎหมายโดยมีงบใช้จ่ายก้อนใหม่มูลค่า 5.59 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่การกระจายของวัคซีนปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุดประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ที่ 53.11% ของประชากร ผนวกกับตัวเลข PMI ยังอยู่ในแดนขยายตัว และตลาดแรงงานยังฟื้นตัวดี

ปรับคำแนะนำจากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนเป็นคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรป แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามการแจกจ่ายวัคซีนที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตามยุโรปกำลังเผชิญความเสี่ยงในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เร่งตัวสูงขึ้นจากเชื้อกลายพันธุ์ Delta (สายพันธุ์จากอินเดีย) ร่วมกับการอนุญาตให้มีการเดินทางข้ามเมือง จึงมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้สูง

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Sustainable Equity  (SCBGEESGA)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส แอคทีฟ (SCBUSAA)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ บิลเลียนแนร์ (SCBBLN)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQT)   

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ US Short Duration High Income (SCBUSHYA)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (SCBS&P500)