SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 24-28 พ.ค. 2564

24 พฤษภาคม 2564

“จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรับรู้ข่าวร้ายเรื่องอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงถึง 4.12% YoY ในสัปดาห์ก่อนหน้ามาแล้ว นอกจากนี้ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนุนให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการตามปกติได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ Fed ตัดสินใจลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE taper) รวดเร็วกว่าคาด โดยนักวิเคราะห์คาดว่า Fed อาจส่งสัญญาณ QE taper เบื้องต้นในการประชุม Jackson Hole Symposium ที่มักจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน ส.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมของ FOMC ในวันที่ 21-22 ก.ย. และเริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์จริงต้นปี 2022

การฉีดวัคซีนของทั่วโลกเริ่มมีความคืบหน้า โดยล่าสุดประเทศพัฒนาแล้วฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้กับประชาชนถึง 47.59% และ 27.74% ของจำนวนประชากรทั้งหมดตามลำดับ ขณะที่ประเทศภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไทยฉีดไปแล้ว 10.53%, 7.34%, 4.14% และ 2.36% ตามลำดับ

จำนวนผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ลดลง 3.4 หมื่นราย เป็น 4.44 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งลดลงมากกว่าตลาดคาด และเป็นการลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ในกลางเดือน มี.ค. 2020  สะท้อนตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องตามการเปิดทำการตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ หลังการแจกจ่ายวัคซีนเป็นวงกว้างมากขึ้น

ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออก พ.ร.ก. เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 700,000 ล้านบาท โดยแบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น       1) แผนงานด้านสาธารณะสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2) แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 400,000 ล้านบาท  3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 270,000 ล้านบาท โดยคาดว่าแผนการกู้เพิ่มเพิ่มเติมอีก 700,000 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจปี 2021 ขยายตัวเพิ่มได้อีก 1.5% (โดยล่าสุดธปท.คาดการณ์ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 2.0%) และจะไม่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ FY2021 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 58% ของ GDP อย่างไรก็ดี สำหรับในปี FY2022 คาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.5% ของ GDP สู่ระดับ 63% ของ GDP ซึ่งเกินกรอบเป้าหมายที่ 60% ของ GDP

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Real yield) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Dollar index) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 89.8 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาทองคำ

ปรับคำแนะนำจากคงน้ำหนักการลงทุนเป็นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีน A-Share เนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัว ประกอบกับตลาดหุ้นจีนรับรู้เรื่องรับรู้เรื่อง PBoC ส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE taper) ไปแล้ว

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ตราสารหนี้ US Short Duration High Income (SCBUSHYA)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียนอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลดิจิตอล (SCBDIGI)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)

“สับเปลี่ยนกองทุน” ออกจาก กองทุนฯ ไทยอิควิตี้ (SCBTEQ) เข้ากองทุนฯ หุ้น Machine Learning Thai Equity (SCBMLTA)