SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 22-26 ก.พ. 2564

22 กุมภาพันธ์ 2564

“นาง Jenet Yellen ส่งสัญญาณบวกเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวขึ้น จากความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ ล่าสุดประชากรในอิสราเอลได้รับวัคซีนต้าน COVID-19 แล้วถึง 79.4% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ตามด้วย UAE 53.3%, อังกฤษ 24.3%, และสหรัฐฯ 16.51% ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งสัญญาณบวกจากบทสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีคลัง Jenet Yellen ที่กล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาด 1.9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ของปธน. Joe Biden ที่อยู่ในระหว่างพิจารณา มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยเพิ่ม Sentiment ให้กับตลาดหุ้น

ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ม.ค. พลิกกลับมาขยายตัว โดยตัวเลขปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่ติดลบ -1.0% ในเดือนก่อนหน้า สู่ระดับที่ 5.3% MoM โดยนับเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2020 และสูงกว่าที่ตลาดคาด เนื่องจากอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อนุมัติปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา

ยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 1.3 หมื่นราย เป็นระดับที่ 8.61 แสนราย นับเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ แม้ว่ายอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Claims) จะลดลงถึง 6.4 หมื่นราย สู่ระดับที่ 4.49 ล้านราย

ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2020 หดตัว โดยตัวเลขติดลบที่ระดับ -6.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ แม้ว่ารัฐบาลกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าจากการที่ยังคงมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นในประเทศส่งผลให้อาจมีการประกาศมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม อีกทั้งความเสี่ยงของการกระจายวัคซีนในไทยที่ยังช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ตัวเลข Industrial Production ในเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่นยังคงติดลบ โดยตัวเลขดีขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ระดับ
-3.2%YoY ขึ้นมาเป็นระดับ -2.6%YoY ซึ่งตัวเลขติดลบสองเดือนติดต่อกันจากการผลิตของเครื่องจักร
ยานยนต์ และอุปกรณ์สื่อสารที่ยังคงหดตัว แม้ว่าการผลิตในกลุ่มเคมีภัณฑ์จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กลยุทธ์การลงทุน

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยอิควิตี้ (SCBTEQ)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์  กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ (SCBGOLD)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลด์ THB เฮดจ์ (SCBGOLDH)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)