SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 20-24 เม.ย. 2563

17 เมษายน 2563

“ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูงจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่องแม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกเร่งอัดฉีดสภาพคล่อง”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง บวกกับบางประเทศเริ่มมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังมีค่อนข้างมาก โดยการเปิดประเทศทั่วโลกอาจเป็นแบบเปิดแบบระมัดระวังและรอดูสถานการณ์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและฟื้นตัวช้า

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P (S&P Global Ratings) ได้ปรับลดมุมมอง (Outlook) ของไทยลง โดยปรับลดจากมุมมอง “เชิงบวก (Positive)” เป็น “มีเสถียรภาพ (Stable)” เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กดดันภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับความล่าช้าของการบังคับใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2020 รวมถึงปัญหาการเมืองภายในประเทศ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจลง โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวถึง  -3.0% ซึ่งเป็นตัวเลขที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่ Great Depression ปี 1929  เหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้หลายๆ ประเทศประกาศใช้มาตรการคุมเข้ม เช่น การปิดเมืองและประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางจีน (PBoC) อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา PBoC ปรับลดอัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีลง โดย MLF เป็นโครงการปล่อยกู้ของ PBoC ที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดปล่อยกู้คงค้างในระบบที่ PBoC ปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถูกปรับลดลงอีก 0.20% มาอยู่ที่ระดับ 2.95% และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 100,000 ล้านหยวน

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยกระดับ State of Emergency ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งและจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุของการติดเชื้อสูงมากขึ้น อาจทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ช้าลง นอกจากนี้ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอแสดงให้เห็นจากตัวเลขยอดคำสั่งซื้อ Machine Tool ในเดือนมี.ค. ที่หดตัวอยู่ -40.8%YoY โดยเดือนก.พ. อยู่ที่ -29.6%YoY ขณะเดียวกันตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจ Manufacturing DI และ Non-manufacturing DI เดือนเม.ย ออกมาต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติปี 2552 ที่ -30 และ -23 ตามลำดับ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นในระยะนี้

กลยุทธ์การลงทุน

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นเกาหลี (SCBKEQTG)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)