SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 15-19 มี.ค. 2564

15 มีนาคม 2564

“จับตาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนถึง 28.31% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และยุโรปอยู่ที่ 9.82% ของจำนวนประชากรทั้งหมด อีกทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการโหวตลงมติโดยสภาผู้แทนฯ แล้ว และกำลังส่งต่อให้ปธน. Biden ลงนามภายในวันที่ 12 มี.ค. อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อาจผลักดันให้ Bond yield มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแรงอีกและเป็นความเสี่ยงที่อาจกดดัน Valuation ของตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานอีกครั้ง

ยอดผู้ว่างงานขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยยอดลดลง 4.2 หมื่นราย มาอยู่ที่ 7.12 แสนราย ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มี.ค. ดีกว่าตลาดคาดที่ 7.25 แสนราย ขณะที่อัตราการว่างงานปรับลดลงเป็น 6.2% นับเป็นการฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้หลังจำนวนผู้ติดเชื้อปรับลดลงมากภายหลังการแจกจ่ายวัคซีน อีกทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหม่จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดแรงงานในระยะข้างหน้าด้วย

ECB มีมติคงนโยบายการเงินเดิมตามคาด และส่งสัญญาณเร่งเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ PEPP ในเดือนหน้า โดย ECB จะเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ PEPP ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร ดังเดิมจนถึงเดือน มี.ค. 2022 เป็นอย่างน้อย และจนกว่าจะมั่นใจว่าวิกฤต COVID-19 ได้สิ้นสุดแล้ว

ยอดปล่อยสินเชื่อเดือน ก.พ. ของจีน ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดจากอุปสงค์เงินหยวน โดยยอดระดมทุนรวมสุทธิ (Total Social Financing) เดือน ก.พ. อยู่ที่ 1.71 ล้านล้านหยวน สูงกว่าตลาดคาดที่ 9.1 แสนล้านหยวน ท่ามกลางการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดอกเบี้ย Reverse Repurchase ของ PBoC

ครม. เร่งรัดให้หน่วยงานเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว เนื่องจากการเบิกจ่ายมีความล่าช้ามาก โดยล่าสุด มีการอนุมัติโครงการไปประมาณ 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 41% ของวงเงินรวม แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 12% ของวงเงินรวม เท่านั้น ซึ่งหากสามารถทำการเร่งเบิกจ่ายได้ จะเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการแจกจ่ายวัคซีน และความคาดหวังเรื่องการเปิดเมือง ขณะที่ ECB เตรียมจะเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนหน้า

แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพิ่มเติม และเริ่มได้รับส่งมอบวัคซีนต้าน COVID-19

จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในวันที่ 17-18 มี.ค. ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์การลงทุน

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBPIN)

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ยูเอสสมอลแคป (SCBUSSM)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นยูเอส แอคทีฟ (SCBUSAA)

“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCBAEM)