SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 11-15 พ.ย. 2562

11 พฤศจิกายน 2562

จับตาการเจรจาการค้า Phase 1 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายลง หลังปธน. Trump ประกาศว่าจะมีการเซ็นต์สัญญาการค้าระยะที่ 1 หรือ Phase 1 ประกอบกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของของประเทศหลักส่วนใหญ่ฟื้นตัวขึ้น นำโดยสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น +0.5 จุด เป็น 48.3 จุด ยูโรโซนฟื้นตัวขึ้น +0.2 จุด เป็น 45.9 จุด จีนฟื้นตัวขึ้น +0.3 จุด เป็น 51.7 จุด  ขณะที่ PMI ภาคการผลิตญี่ปุ่นปรับตัวลดลง -0.5 จุด เป็น 48.4 จุด

ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดดอกเบี้ย MLF ลง -5bps เป็น 3.25% ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพื่อช่วยหนุนการปล่อยสินเชื่อให้เร่งตัวขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่แผ่วลง อย่างไรก็ตามคาดว่าประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ย MLF ต่อเศรษฐกิจจีนจะมีอยู่อย่างจำกัด และ PBoC อาจมีนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม

กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps เหลือ 1.25%  ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ จากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งในปี 2019 และ 2020 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

สหรัฐฯ อาจไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เนื่องจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับบริษัทรถยนต์หลายค่ายเป็นไปในทิศทางบวก และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวจะกระทบต่อผู้บริโภคสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก รวมถึงยังไม่ได้รับความเห็นชอบในสภา และอาจเพิ่มความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งคาดว่าปธน. Trump จะไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นก่อนการเลือกตั้งปธน.ในเดือน พ.ย. 2020

เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Banking เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจาก Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ส่งสัญญาณหยุดการลดดอกเบี้ยลงในช่วงนี้  ซึ่งหลังจากนี้กนง.มีโอกาสที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed ประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้าและ Brexit ผ่อนคลายลง ทำให้หุ้นกลุ่ม Banking มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยหุ้นกลุ่ม Banking ในประเทศยังได้รับความน่าสนใจน้อยจากนักลงทุน ทำให้ Valuation อยู่ในระดับที่ถูกเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆ

จับตาการตัดสินใจปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยปธน. Trump ในวันที่ 13 พ.ย. คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

กลยุทธ์การลงทุน :

“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX (SCBBANKING)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นจีน THB เฮ็ดจ์ (SCBCEH)

“เพิ่มน้ำหนักการลงทุน”กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล สตราทีจิก อินเวสเมนท์ (SCBGSIF)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap (SCBMSE)

“ขาย” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล บอนด์ (SCBGLOB)